สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ในเขตอุตสาหกรรมอาหารทะเลที่เป็นแหล่งเศรษฐกิจของจังหวัดมีทั้งแรงงานข้ามชาติจากเมียนมา และกัมพูชาในอาชีพประมง และต่อเนื่องประมงติดเชื้อจำนวน 170 คน ให้แรงงานบนเรือไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นฝั่ง เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจายไปยังคนบนฝั่งและในชุมชน สุดท้ายก็ไม่สามารถหยุดยั้งการแพร่กระจายของโรคได้ เนื่องจากทำเลที่พักอาศัยของแรงงานมักอยู่รวมกันหลายครอบครัวในพื้นที่ที่จำกัด แรงงานที่อาศัยในชุมชนระแวกสะพานปลาหลายแห่งถูกกักตัว ไม่สามารถไปไหนมาไหนได้ ขาดแคลนรายได้และอาหาร รวมถึงไม่มีการตรวจคัดกรองจากหน่วยงานภาครัฐ ส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่มีความยากลำบากมากขึ้น
สมาคมการประมงจังหวัดปัตตานีตระหนักถึงสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง จึงร่วมกับโรงพยาบาลธัญญารักษ์วางแผนตรวจเชิงรุกให้แรงงานข้ามชาติประมงและต่อเนื่องประมงทั้งบนเรือ และบนฝั่งบริเวณสะพานปลา และชุมชนใกล้เคียงที่มีความเสี่ยงอีก 10 ชุมชน จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม 2 แห่ง ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลบานา และ สะพานปูน/ท่าพักเรือ อ.เมือง จ.ปัตตานี อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดของการดำเนินการ และความเร่งด่วนที่ต้องเผชิญ ทำให้ชุดตรวจที่ภาครัฐสนับสนุนในเบื้องต้นไม่เพียงพอต่อจำนวนคน จึงประสานไปที่สถานประกอบการเพื่อร่วมกันระดมทุนซื้อชุดตรวจเพิ่มเติม และมูลนิธิรักษ์ไทยได้ร่วมบริจาคชุดตรวจจำนวนอีก 1,500 ชุด ทั้งปัญหาที่พบ คือ แรงงานข้ามชาติหลายคนที่ไม่มีเอกสาร ไม่มีนายจ้างและไม่ได้เข้าระบบตามกฎหมาย ทำให้ไม่ได้รับสิทธิในการรักษาและเข้ารับการฉีดวัคซีน แต่ทางโรงพยาบาลธัญญารักษ์มีวัตถุประสงค์จะนำแรงงานข้ามชาติทุกคนให้ได้รับการตรวจคัดกรอง และฉีดวัคซีน จึงขอความร่วมมือจากมูลนิธิรักษ์ไทยสำรวจข้อมูลแรงงานข้ามชาติที่ตกสำรวจทั้งหมด เพื่อผลักดันให้เกิดการตรวจและการฉีดวัคซีนทั้งระบบ ตอนนี้แรงงานข้ามชาติในกลุ่มอาชีพประมง และต่อเนื่องประมงได้รับการตรวจไปกว่า 3,000 คน พบว่าติดเชื้อเกือบ 200 คน และได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้วจำนวนกว่า 1,630 คน
การดูแลรักษาผู้ป่วยแรงงานข้ามชาตินั้น ไม่สามารถใช้ระบบ Home Isolation ได้ ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่พักอาศัยที่แออัด และแอปพลิเคชันที่ติดตามมีเพียงภาษาไทยเท่านั้น ทางโรงพยาบาลธัญญารักษ์จึงจัดสรรให้แรงงานข้ามชาติที่ติดเชื้ออยู่ที่โรงพยาบาลสนามซึ่งมีอาหารครบ 3 มื้อ และยารักษาตามอาการตลอด 14 วัน มูลนิธิรักษ์ไทยร่วมทำงานประสานกับภาคส่วนต่างๆอย่างเต็มที่ จัดส่งเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษากับแรงงานที่ติดเชื้อก่อนเข้าสู่โรงพยาบาลสนาม ช่วยเป็นล่ามระหว่างแรงงานข้ามชาติและบุคลากรทางการแพทย์ พร้อมทั้งติดตามอาการแรงงานผู้ติดเชื้อ ในขณะเดียวกันเร่งสำรวจแรงงานในพื้นที่ และประสานงานเพื่อได้รับการคัดกรอง พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียในการดูแลรักษาตัวเองที่บ้าน การปฏิบัติตัวในช่วงโควิดผ่านสื่อสองภาษาอีกด้วย
ผู้ให้ข้อมูล คุณธิดา อู
ผู้เรียบเรียง วิริญญ์ ว่องประเสริฐการ