จากวันนั้นถึงวันนี้ของแม่หลวงมึเง

บ้านห้วยปูหลวง  ตำบลยางเปียง  อำเภออมก๋อย อยู่ห่างจากอำเภอ 27 กิโลเมตร เป็นชาติพันธุ์กะเหรียง เมื่อประมาณปี 2558  ครั้งไปสำรวจข้อมูลชุมชนเพื่อทำโครงการด้านสิ่งแวดล้อม ได้เริ่มรู้จักแม่หลวงมึเง ตอนนั้นแม่หลวงยังเป็นคนขี้อาย ไม่กล้าพูด  ไม่กล้าถาม แต่เมื่อมีโอกาสจัดกิจกรรมในชุมชนหลายๆครั้งได้พยายามให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ออกความคิดเห็น ออกมานำเสนอหน้าเวทีการประชุม แม่หลวงเริ่มกล้าที่จะพูดกล้า

แสดงออก โดยเข้ามาร่วมกิจกรรมแรกในโครงการชีวาป่าดอย เป็นโครงการสร้างอาชีพกับกลุ่มผู้หญิงของมูลนิธิรักษ์ไทย แม่หลวงมึเงได้ตั้งกลุ่มทอผ้าเพื่อรับการสนับสนุนและพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยมีสมาชิกในกลุ่ม 20 คน  เดิมเย็บมือและพัฒนามาเย็บจักร ต่อมาได้รับการจากสนับสนุนอุปกรณ์เย็บจักรและพาไปศึกษาดูงานจากโครงการการสร้างพลังทางเศรษฐกิจและสังคมให้แก่สตรี อมก๋อย    

เมื่อมีกิจกรรมออกร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในเมืองเชียงใหม่ ทางมูลนิธิฯ ได้ชวนแม่หลวงมึเงร่วมออกร้าน แต่ครั้งแรกยังไม่เข้าร่วมเพราะยังไม่กล้า แต่ครั้งต่อมาได้ชวนอีก แม่หลวงต่อรองขอมีผู้ชายไปด้วย ครั้งนี้แม่หลวงสามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของกลุ่มได้ จึงรู้สึกภูมิใจ นอกจากขายของได้เงินแล้วยังได้เจอเพื่อนที่เป็นชาวกะเหรี่ยงด้วยกัน ได้เจอลูกค้าที่ชอบพอสินค้าของชุมชน เริ่มติดใจอยากขายของ แม่หลวงมึเงบอกให้ช่วยด้วยหากมีงานขายของอีก 

ผ้าห่มจากเศษผ้า

แม่หลวงร่วมงานกับมูลนิธิรักษ์ไทยและหน่วยงานต่างๆที่เข้ามาพัฒนาในชุมชนอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะป็นการอบรม ดูงาน การออกร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ แม่หลวงจะไม่ปฏิเสธที่จะเข้าร่วม ทั้งที่แม่หลวงมีงานประจำคือการเพาะกล้าพริก มะเขือเทศ แต่จะสละเวลา  และอยากพาสมาชิกไปร่วมเรียนรู้อยู่เสมอ  หากบางกิจกรรมสมาชิกไปไม่ได้ แม่หลวงจะไปคนเดียวหรือไปกับพ่อหลวงระกาผู้เป็นสามี  นับเป็นผู้หญิงที่สนใจเรียนรู้ อยู่ตลอดเวลา  โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้นำสินค้าขายผ่านออนไลน์ โดยการสร้างเฟซบุ๊กของกลุ่มวิสาหกิจ ชื่อว่า “ผ้าทอ.ทีคี”  

นอกจากการได้ร่วมทำกิจกรรมเรียนรู้ด้านอาชีพกับมูลนิธิรักษ์ไทยซึ่งทำให้แม่หลวงได้รับการพัฒนาให้กล้าแสดงออกมากขึ้นแล้ว คนที่เป็นแรงผลักดันสำคัญคือผู้ใหญ่ระกา ผู้เป็นสามีที่มีความเข้าใจ  ให้โอกาส ต้องการให้ภรรยาและผู้หญิงในชุมชนกล้าแสดงออก กล้าคิด   หากมีการประชุมอบรมที่ไหนผู้ใหญ่จะถามว่ามีให้ผู้หญิงเข้าร่วมด้วยหรือไม่ หากมีจะได้ชวนลูกบ้านไปเรียนรู้ด้วยเสมอ

เมื่อถูกถามว่าการทำงานมีปัญหาหรือไม่ แม่หลวงมึเงบอกว่า ปัญหาก็มี บางครั้งท้อไม่อยากทำ  ไม่อยากเดินต่อแล้ว แต่พอมานึกถึงหน่วยงานที่สนับสนุน แล้วมาถามตัเองและสมาชิกว่าทำเต็มที่แล้วหรือยัง และหากใครไม่พร้อมก็หยุดไปก่อน แต่หากพร้อมเมื่อใดก็ให้กลับมาช่วยกันอีก ต้องสู้เพื่ออนาตของผู้หญิงในชุมชน  ปัจจุบันแม่หลวงมึเง เป็นประธานกลุ่มอาชีพของบ้านห้วยปูจดทะเบียนวิสาหกิจชื่อ  กลุ่มพัฒนาห้วยปู ที่มีกิจกรรมและผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง ในเรื่องการทอผ้า เย็บผ้าห่ม ผ้าเช็ดเท้า สร้างรายได้ให้กลับสมาชิกกลุ่ม  แม่หลวงกล่าวว่า กลุ่มไม่สามารถเดินได้ด้วยคนๆเดียวแต่ต้องเดินไปพร้อมสมาชิกที่ร่วมกันขับเคลื่อน ผู้หญิงจะพัฒนาได้จะต้องให้ผู้ชาย ครอบครัวเข้าใจและพร้อมที่จะพัฒนาไปด้วยกัน 

หมายเหตุ *คำว่า “แม่หลวง ในภาคเหนือคือแม่บ้านที่เป็นภรรยาของผู้ใหญ่บ้าน* 

เขียนโดย สมศักดิ์  แก้วศรีนวล 
เรียบเรียงโดย ธนาวดี องค์อินทรี 

บทความที่เกี่ยวข้อง

เกี่ยวกับผู้เขียน ดูกระทู้ทั้งหมด เว็บไซต์ผู้เขียน

Admin