บ้านปลา ในประเทศไทยเป็นคำศัพท์ที่เกิดขึ้นมาจากการทำงานการจัดการทรัพยากรชายฝั่งของผู้นำชุมชน และ นักพัฒนา ซึ่งชื่อดั้งเดิมที่เป็นที่รู้จักกัน คือคำว่า “ซั้ง” ที่เป็นภูมิปัญญาของชาวประมงที่นำท่อนไม้และทางมะพร้าวไปสร้างในลำคลอง หรือ ในทะเลเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยปลา ซั้งปลาจะพบทั่วไปในจังหวัดตามแนวชายฝั่ง และ ได้วิวัฒนาการของวัสดุการสร้างบ้านปลาไปเป็นท่อซีเมนต์ รวมทั้งนำไปสู่การประดิษฐ์ด้วยวัสดุซีเมนต์ก่อเป็นรูประฆังคว่ำ เจาะรู ซึ่งในต่างประเทศมีการผลิตและมีลิขสิทธิ์ด้วย ส่วนคำว่า “ปะการังเทียม” เป็นคำศัพท์ทางราชการที่กรมประมงใช้ในความหมายว่า “เป็นแหล่งอาศัยสัตว์น้ำ ที่ซึ่งจะใช้วัสดุมาตรฐาน เป็นแท่งซีเมนต์ขนาดใหญ่โปร่งในรูปลูกเต๋าอาจจะมีขนาด ๑ ลูกบาศก์เมตร เพื่อเป็นแหล่งอาศัยสัตว์น้ำแล้วจะใช้ทำเป็นแนวป้องกันเรือประมงอวนรุนอวนลากเข้าไปในเขตประมงชายฝั่ง
ซั้งปลาประมงพื้นบ้านเกาะเต่า
สำหรับการจัดวางบ้านปลาเพื่อการทำประมงพื้นบ้านเกาะเต่า ได้มีการวางซั้งปลาโดยใช้ทางมะพร้าว ผูกเป็นทางยาวตามแนวเชือกจากระยะพื้นผิวท้องทะเลไปจนถึงด้านบนของผิวน้ำเป็นไม้ไผ่เพื่อให้เรือที่สัญจรสามารถมองเห็น โดยวางซั้งปลาในระดับความลึกที่หลากหลายตั้งแต่ 20 – 40 เมตร บ้านปลาจะทำหน้าที่ให้ปลาเข้ามารวมฝูง และจะล่อปลาใหญ่เข้ามาทำให้ชาวประมงสามารถจับปลาที่มีขนาดใหญ่ได้ นอกจากนี้การวางซั้งปลารอบเกาะ ยังเป็นการกระจายบ้านปลาเพื่อทำประมง และป้องกันปัญหาการทำประมงด้วยเครื่องมือทำลายล้าง เช่น อวนลาก อวนรุน ได้เป็นอย่างดี
วัสดุธรรมชาติ อย่างทางมะพร้าวและไม้ไผ่ ถูกนำใช้ทำที่อยู่ของสัตว์น้ำซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการทำประมงพื้นบ้าน ส่วนใหญ่มีการใช้ในพื้นที่อ่าวชายฝั่งทั้งอ่าวไทยและอันดามัน มีการนำเรือไม้ไผ่และทางมะพร้าวมาใช้เป็นปะการังเทียมเพื่อล่อสัตว์น้ำ
ข้อดี เป็นวัสดุที่สามารถหาได้ง่าย ช่วยเพิ่มสัตว์น้ำเช่น หอยหรือเพรียงไม้ เพิ่มพื้นที่หลบซ่อนของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ซึ่งเป็นอาหารของปลา ช่วยเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำได้ดี
ข้อเสีย วัสดุธรรมชาติมีอายุการใช้งานที่สั้น ถูกแรงคลื่นทำให้หักง่ายและบางส่วนที่หักจะลอยขึ้นมาที่ผิวน้ำ ไม้มีลักษณะลอยน้ำ จึงต้องมีการของมาถ่วงเพื่อให้จม และต้องมีการซ่อมแซมอยู่เสมอ
การจัดสร้างบ้านปลา เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวประมงพื้นบ้านได้ดีขึ้น บ้านปลาที่จัดสร้างโดยชุมชน จะช่วยให้ชุมชนมีแหล่งทำการประมงใกล้บ้านโดยเฉพาะในช่วงที่มีมรสุมที่มีระยะเวลานานจนไม่สามารถออกไปทำประมงได้ตามปกติ และช่วยให้มีรายได้เพิ่มขึ้นเนื่องจากมีสัตว์น้ำที่อุดมสมบูรณ์ขึ้น และการจัดสร้างบ้านปลาสามารถจัดสร้างในพื้นที่ใกล้ชุมชน ทำให้ประหยัดต้นทุนในการเดินทางออกไปทำการประมง ทั้งยังช่วยให้สามารถดูแลและจัดการบ้านปลาได้สะดวกขึ้นและบ้านปลาเป็นอีกเครื่องมือ ช่วยหล่อหลอมความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ของชุมชน เพราะชุมชนประมงเกาะเต่า ทำการวางซั้งปลา รอบเกาะเต่า เพื่อที่ใครๆที่อาศัยใกล้จุดไหนก็สามารถไปอาศัยจุดนั้นได้ ไม่วางเฉพาะจุดที่กลุ่มใช้ประโยชน์เท่านั้นแต่เผื่อแผ่แก่กลุ่มอื่นๆ และวางให้มีจำนวนจุดมากๆ เพื่อลดการแย่งชิงทรัพยากร ส่งผลให้เกิดความร่วมมือและช่วยกันดูแลเป็นอย่างดี
ที่สำคัญบ้านปลาจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่ให้ชุมชนมาร่วมเรียนรู้และแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็น ซึ่งโดยทั่วไปจะเป็นการยากที่ให้ชุมชนมากพูดคุยเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะให้ชุมชนเห็นคุณค่าและความสำคัญในการดูและบริหารจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของ
ชุมชนและบทบาทของบ้านปลาที่ช่วยบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ สาเหตุที่เกิดวิธีการแก้ไขหรือบรรเทาความรุนแรงและผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งลูกหลานของเรากำลังจะได้รับอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงต้องรู้วิธีการปรับตัวเพื่อการดำเนินชีวิตของชุมชนและลูกหลานในอนาคต
โดย : มูลนิธิรักษ์ไทยงานด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ