ผลนิด้าโพลชี้ประชาชนมีทัศนคติเชิงบวกต่อการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด

สำหรับคนในแวดวงสาธารณสุขแล้ว การลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด (Harm Reduction) เป็นคำที่รู้จักคุ้นเคยกันอยู่พอสมควร แต่สำหรับประชาชนทั่วไปแม้จะยังไม่รู้จักคำนี้กันอย่างแพร่หลายนัก แต่ผลสำรวจของนิด้าโพลพบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความเห็นเป็นแนวโน้มเชิงบวกต่อวิธีการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด

ทั้งนี้ การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับโครงการ “Stop TB and AIDS through the RRTTPR 2021-23 (STAR 2021-23)” จัดทำขึ้นระหว่างวันที่ 20 กันยายน – 31 ธันวาคม 2565 โดยศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ เผยแพร่เมื่อเดือนมกราคม 2566 เสนอต่อมูลนิธิรักษ์ไทย ซึ่งเป็นผู้รับทุนหลัก (PR)จาก Global Fund

โครงการ “Stop TB and AIDS through the RRTTPR 2021-23 (STAR 2021-23)” เป็นโครงการระดับชาติที่มีเป้าหมายเพื่อยุติโรคเอดส์ในประเทศไทย และลดอัตราการติดเชื้อเอชไอวีให้ได้ต่ำกว่า 1,000 รายต่อปีภายในปี 2573 ซึ่งประชากรหลักที่มีแนวโน้มได้รับหรือแพร่เชื้อเอชไอวีมากที่สุด ได้แก่ ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย (MSM) หญิงข้ามเพศ (TG) ผู้ใช้สารเสพติดด้วยวิธีการฉีด (PWID) และแรงงานข้ามชาติ

วัตถุประสงค์ของการทำโพลครั้งนี้เพื่อสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับความเข้าใจถึงการรับรู้ของประชาชนเกี่ยวกับการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด เช่น การรักษาด้านสุขภาพสำหรับผู้ใช้ยาเสพติด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ใช้สารเสพติดด้วยวิธีการฉีด ทั้งนี้เป็นไปตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 ที่เน้นการบำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด แทนการเน้นที่การปราบปราม ซึ่งผลสำรวจสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการสื่อสารข้อมูลสาธารณะและเป็นข้อมูลสนับสนุนที่สำคัญที่จะนำไปพัฒนาการลดอันตรายจากยาเสพติดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 ต่อไป

ในการสำรวจใช้ระเบียบวิธีการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) เก็บรวมรวมข้อมูลด้วยวิธีสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ จากประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวนทั้งสิ้น 3,000 หน่วยตัวอย่าง กระจายในทุกภูมิภาคของประเทศไทย ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Stratified Sampling)

โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นเพศหญิงมากที่สุดร้อยละ 51.77  ช่วงอายุ 46-59 ปี ร้อยละ 25.46   มีภูมิลำเนาตามทะเบียนบ้านอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ร้อยละ 33.47  สำเร็จการศึกษาสูงสุดระดับมัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า  ร้อยละ 37.50  ประกอบอาชีพอิสระ ร้อยละ 17.33  รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 27.00  ไม่มีคนรู้จักคนที่ใช้ยาเสพติด ร้อยละ 65.87

เนื้อหาการสำรวจครอบคลุมถึงประเด็นการรับรู้เรื่องยาเสพติด กฎหมายและนโยบาย  การรับรู้เกี่ยวกับการจัดการปัญหาของนโยบายภาครัฐที่มีต่อผู้ใช้ยาเสพติดของประเทศไทย ความคิดเห็นเกี่ยวกับผู้ใช้ยาเสพติด  และข้อเสนอแนะในการจัดการปัญหายาเสพติดและผู้ใช้ยาเสพติด

ผลสำรวจด้านการรับรู้เรื่องยาเสพติด กฎหมายและนโยบาย กลุ่มตัวอย่างเห็นว่าการบำบัดยาเสพติดจะทำให้ผู้ใช้ยาเสพติดเลิกเสพได้เด็ดขาด  ร้อยละ 57.20  การส่งตัวผู้ใช้ยาเสพติดต้องโทษเข้าเรือนจำ จะทำให้ผู้ใช้ยาเสพติดไม่สามารถเลิกยาเสพติดได้เด็ดขาด ร้อยละ 69.97  แม้จะมี “กัญชาเสรี” รัฐบาลก็ควรมีการให้ความรู้เกี่ยวกับการลดอันตรายจากการใช้กัญชา ร้อยละ 83.63 เห็นด้วยว่าผู้ใช้ยาเสพติดคือผู้ป่วยที่ควรได้รับการเยียวยาทางด้านร่างกายและจิตใจ ร้อยละ 87.90   และผู้ใช้ยาเสพติดไม่ใช่อาชญากร ควรได้รับโอกาสและมีสิทธิอยู่ร่วมกับคนอื่น ๆ ในสังคม ร้อยละ 84.57

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นด้วยต่อวิธีการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด มากที่สุดถึงร้อยละ 85.17 รองลงมาคือไม่เห็นด้วย ร้อยละ 14.03  ไม่แน่ใจหรือไม่ทราบ ร้อยละ 0.80  

ในด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดการปัญหานโยบายภาครัฐที่มีต่อผู้ใช้ยาเสพติดของประเทศไทย ในประเด็นผู้ใช้ยาเสพติดที่ยังใช้ยาอยู่ควรได้รับการตรวจเพื่อหาเชื้อโรคเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบซี เพื่อจะได้รับการรักษาต่อไปหากพบเชื้อ เห็นด้วยร้อยละ 90.17  ประเด็น “ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย” ควรได้รับการบำบัดฟื้นฟูและบริการลดอันตรายจากยาเสพติด เห็นด้วยร้อยละ 90  ส่วนประเด็นประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 ที่ยึดหลัก “ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย” เห็นด้วย ร้อยละ 66.60

ความคิดเห็นเกี่ยวกับผู้ใช้ยาเสพติด กลุ่มตัวอย่างเห็นว่าสังคมควรให้โอกาสผู้ใช้ยาเสพติดที่ได้รับการบำบัดแล้ว ในการประกอบอาชีพที่สุจริต มีค่าเฉลี่ยสูงสุดเท่ากับ 4.22 หรือคิดเป็นร้อยละ 84.40  ประเด็นครอบครัวและชุมชนควรให้การยอมรับ และไม่กีดกันผู้ใช้ยาเสพติดที่ผ่านการบำบัดแล้ว ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.09 คิดเป็นร้อยละ 81.80  และประเด็นการใช้เข็มและอุปกรณ์ฉีดยาที่สะอาด ไม่ใช้เข็มและอุปกรณ์ร่วมกับผู้อื่น รวมถึงใช้เข็มครั้งเดียวทิ้ง จะช่วยลดการเสียชีวิตจากการติดเชื้อเอชไอวีและโรคอื่น ๆ ได้ ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.85 คิดเป็นร้อยละ 77.00

ในส่วนของข้อเสนอแนะการแก้ไขปัญหายาเสพติดนั้น กลุ่มตัวอย่างเห็นด้วยว่าบุคคลในครอบครัวสร้างความรัก ความอบอุ่น ร้อยละ 63.03  รองลงมาเป็นการขจัดแหล่งอบายมุข แหล่งมั่วสุมและแหล่งจำหน่ายยาเสพติดในชุมชน ร้อยละ 61.40  การส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ร้อยละ 50.87  การจัดกิจกรรมหรือฝึกอบรมเพื่อส่งเสริมอาชีพและการมีงานทำแก่ผู้ใช้ยาเสพติด  ร้อยละ 46.17  การนำวิธีการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติดมาปรับใช้เป็นทางเลือกสำหรับผู้ใช้ยาเสพติด ร้อยละ 34.87 

จากผลสำรวจดังกล่าวมาข้างต้น ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สรุปว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความเห็นในแนวโน้มเชิงบวกต่อวิธีการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด ซึ่งเห็นด้วยคิดเป็นร้อยละ 85.33  รองลงมาไม่เห็นด้วยร้อยละ 13.93  และไม่แน่ใจหรือไม่ทราบ ร้อยละ 0.74  แสดงว่ากลุ่มตัวอย่างมีความรับรู้และมีความเข้าใจ เห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ของวิธีการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติดที่มุ่งเน้นไปที่การบำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด แทนการมุ่งเน้นการปราบปรามและการทำให้ผู้ใช้ยากลายเป็นอาชญากร

จึงควรจะมีการดำเนินการส่งเสริมและรณรงค์ สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับยาเสพติดแก่ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประชาสัมพันธ์เรื่องการใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564  ผ่านสื่อที่สามารถเข้าถึงประชาชนได้ง่าย และรวดเร็ว เช่น สื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ   และควรส่งเสริมสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนในสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยเฉพาะในประเด็นการแก้ไขปัญหาเพื่อลดการตีตราผู้ใช้ยาเสพติด การลดอันตรายจากยาเสพติดตามกระบวนการบำบัดฟื้นฟู ต่อไป

บทความที่เกี่ยวข้อง

เกี่ยวกับผู้เขียน ดูกระทู้ทั้งหมด

สุภาภรณ์ อัษฎมงคล