“ในวันที่ฉันเกือบยอมแพ้”

สำรวจจิตใจตัวเองไปกับ ฝน อาสาหญิง จากรักษ์ไทย กับเรื่องราวชีวิตในฐานะผู้ที่เคยใช้ยาเสพติด

สำหรับผู้ใช้ยาเสพติดนั้น การที่ตนเองเผลอไผล หรือตั้งใจที่จะเข้าไปอยู่ในวังวนของการใช้ยาเสพติด ย่อมไม่ง่ายเลยที่จะต้องต่อสู้กับทั้งตัวเอง ครอบครัว และสังคมรอบข้าง ถึงแม้จะมีคำว่า “ยาเสพติดเลิกได้” แต่เส้นทางการที่จะไปถึงจุดที่จะหยุด และเลิกใช้ยานั้น มันไม่ได้ง่ายเหมือนที่ใครเขาพูดกันเลย..

ในวันนี้ เราได้มานั่งคุยกับ “ฝน” อาสาหญิงของมูลนิธิรักษ์ไทย คนรุ่นใหม่ที่มีความตั้งใจมุ่งมั่น ในการอยากช่วยเหลือผู้ใช้ยาเสพติด ให้ความเข้าใจ รวมถึงแนะนำแนวทางการสำรวจจิตใจ และอาการของร่างกายของตัวเอง เพื่อสร้างความหวังให้ทุกคนไม่ยอมแพ้ และรักตัวเองมากขึ้น ด้วยประสบการณ์ที่เธอเองก็เคยเป็นผู้ใช้ยาเสพติดเหมือนกัน โดยเคยใช้ยาเสพติดอย่าง โคเคน ที่เคยทำให้เธอเกือบยอมแพ้ สิ้นหวัง เดียวดายจนถึงเกือบจบชีวิตตัวเอง แต่แล้ววันหนึ่ง เธอได้กลับมาสำรวจจิตใจ ลุกขึ้นต่อสู้ และไม่ยอมแพ้จนในวันนี้ เธอได้เลิกใช้ยาเสพติด และหันมาให้ความสำคัญกับการรักตัวเองมากขึ้น

คุณฝนเกิดและโตที่กรุงเทพ โดยชีวิตในวัยเรียนนั้นทั้งโรงเรียนและมหาลัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ไม่ได้อยู่ในสภาวะสังคมที่ไม่ได้นำไปสู่การใช้ยาเลย โดยเธอมีความสนใจทางด้านศิลปะ และมีความคิดสร้างสรรค์ในด้านงานอาร์ต จนทำให้ปัจจุบันมีอาชีพหลักคือเป็นช่างสัก ที่มีลายเส้นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ

อาชีพแรกเป็นนางแบบ ตอนอายุ 22 หลังเรียนจบ อยู่วงการแฟชั่น ด้เจอผู้คนมากมาย ที่ไม่เคยได้เปิดโอกาสได้เจอในสมัยที่เรียน ตอนนั้นก็ยังไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดนะ ก็ทำงานนางแบบอยู่ 4-5 ปี

ตอนนั้นต้องรับมือกับสภาพจิตใจ ที่รับมือกับสังคมที่ต้องใช้ภาพลักษณ์ประกอบอาชีพ

ในตอนนั้นที่ทำงานนางแบบ เริ่มรู้สึกถึงปัญหาเกี่ยวกับความมั่นใจตัวเอง เราใช้ชีวิตแบบขขาดความมั่นใจ ตอนนั้นเลยออกจากอาชีพนั้น เพื่อมาค้นหาความชอบ จนกลายมาเป็นช่างสัก ตอนอายุประมาณ 25-26 แล้วก็มีร้านตัวเองตอนอายุ 28

ตอนนั้นเลยที่ได้เริ่มรู้จักยาเสพติดจากคนทำงานแวดวงด้านศิลปะ เริ่มเข้าสังคม สังสรรค์ รู้จักผู้คนที่ใช้ยาเสพติดเป็นเรื่องประจำ เป็นเรื่องปกติ เขาใช้เพื่อความบันเทิง สนุกสนาน

เพื่อนที่เจอทั้งปาร์ตี้ คนที่ทำงาน กลุ่มลูกค้าที่รู้จักเนี่ย พอเริ่มมีความเชื่อใจกัน สามารถเปิดอกคุยกันได้ เมื่อเข้าสู่บริบทที่ไว้เนื้อเชื่อใจ รู้จักยาเสพติดนี้เหมือนกัน แต่ปัญหาคือพออยู่ในสภาวะที่พากันไปใช้ยา คือทั้งสองฝ่ายไม่ได้ระวัง หรือไม่ได้เตือนกัน ว่าการใช้เนี้ย จะนำไปสู่อะไร บางทีนั่งคุยแล้วก็ใช้ยากัน เหมือนอารมณ์กินเหล้ากับเพื่อนและสบายใจ

ฝนเล่าว่า เมื่อเธอเข้าสู่สภาวะการใช้ยา แล้วใช้แบบผิดๆ โดยที่ไม่มีใครเตือนกันถึงผลข้างเคียงของการใช้ยา มันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางทั้งสภาวะทางร่างกาย และอารมณ์ โดยแม้ว่าในตอนที่ใช้ยานั้น ใช้อย่างสนุกสนานกับเพื่อน แต่เมื่อถึงสภาวะที่ส่งผลกับตัวเอง กลายเป็นว่าฝนต้องรับมือคนเดียว ตอนนั้นเองที่ต้องรับมือกับสภาวะจิตใจโดยที่ไม่ได้รับรู้ ขาดความเข้าใจ ว่าสารกระตุ้นประสาทอย่างโคเคน ทำให้เกิดภาวะความผิดปกติ และ แสดงออกแบบผิดปกติ และนำไปสู่การใช้ยาแบบผิดเสมอๆ

ตอนนั้นที่ใช้ยาได้เพื่อน ได้สนุก ได้ประสบการณ์ใช้ยา อยู่ในอารมณ์ที่ไม่ได้ระวังถึงผลที่ตามมา เพราะโคเคน เป็นสารกระตุ้นแบบเปิดระบบประสาท ทำให้เรามีสภาวะตื่น กระฉับกระเฉง

ซึ่งเวลาที่เราใช้ยา รวมถึงกะปริมาณใช้ยาเนี่ย มันขึ้นอยู่กับว่าเราอยู่ในสภาวะสนุกสนาน เราก็อยากอยู่ในสภาวะนั้นๆต่อมั้ย ซึ่งตอนแรกก็อยู่ที่ลิมิตของทรัพยากรว่ามีของเท่าไหร่ เพราะตอนนั้นไม่ได้ซื้อโคเคนเอง

1ปีหลังจากมีความรู้สึกว่าพอได้เริ่มเข้าถึงแล้ว เริ่มซื้อยาเอง ไม่ได้สนใจการเข้าไปสังสรรค์เพื่อใช้ มันถึงจุดที่อยากใช้กับตัวเอง ใช้ในชีวิตประจำแล้ว ไม่ได้อยากไปสังสรรค์เพื่อใช้ยานี้

ฝนเล่าว่า ตอนนั้นที่ใช้ยาแบบผิดๆ ยังไม่รู้ว่านี่คืออาการของยา ที่สะท้อนมาว่าเมื่อขาดฤทธิ์ยาเป็นยังไง

 มันทำให้รู้สึกแปลกๆว่ามีความกังวลมากขึ้น อาการเหมือนเวลาแฮงค์เหล้าแล้วตื่น แล้วคิดว่าสารตัวนี้ทำให้ตื่นได้เลย เหมือนยาตัวเนี้ย มันหลอกความคิดเรา ว่าถ้าเราใช้ยานี้ต่อ มันจะพาเรากลับสู่สภาวะปกติ

เมื่อใช้ยามากขึ้น ฝนได้รู้ว่าตนเองนั้นขาดการตระหนักรู้ของการควบคุมปริมาณ และเริ่มเห็นสภาวะผิดปกติของร่างกาย เพราะมันกลายเป็นว่าต้องการยามากขึ้น จนร่างกายลืมไปว่า ไม่ได้รับรู้ว่า หิว ป่วย กลายเป็นว่าติดอยู่กับการหมกมุ่น โฟกัสกับการคิด การอ่าน การทำงานอาร์ตขึ้น มันคือการถูกกระตุ้นให้ตื่นขึ้นโดยสมอง แต่จริงๆแล้วร่างกายเรามีลิมิตของสุขภาพ ที่มันแสดงออกโดยอัตโนมัติของร่างกาย

ตอนใช้ยา และทำงานสัก มันมีแค่แรงใจ แต่แรงกายมันลด การควบคุมของร่างกายผิดปกติ เพราะบางทีมันมือไม้สั่น เพราะไม่ได้นอนสองสามวัน ไม่กินข้าว ไม่นอนสามวัน เราเลยคิดว่าเราอยู่ได้ มันทำได้ แต่เราลืมไปว่า จริงๆแล้วมันคือกลไกหลอกจากยา และความประพฤติที่เราเรียนรู้มันมาอย่างวสม่ำเสมอแล้ว แต่เราลืมเรียนรู้ว่าตัวเราจริงๆแล้วเป็นไงตอนอยู่กับยา

เราใช้ยานี้มาสี่ปี และหลังๆจากที่ใช้ ความอดหลับอดนอนมากขึ้น ใช้ยามากขึ้น การควบคุมแย่มากขึ้นในทุกๆครั้ง คือใจสั่น จิตใจเราไม่แข็งแรงมากพอ พอเราเจอกับความวิตกกังวล มันถูกดึงความคิด ความรู้สึกเรา ให้มากขึ้นแบบที่เราไม่สามารถควบคุมจิตใต้สำนึกได้ เหมือนพอเรารู้สึกกลัวเมื่อไหร่ ความรู้สึกมันแรงขึ้น เวลาเราคิด ระแวงคนอื่น มันส่งผลออกมาทางร่างกาย โดยที่เราสับสนขึ้นเรื่อยๆ แต่จริงๆเป็นเพราะสภาวะทางจิตใจที่เป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยา

ฝนเล่าว่า ช่วงพีคที่สุดที่ใช้ คือใช้ปริมาณ 3-4 กรัมต่อวัน ตีมูลค่าเงินที่เสียไปเป็นหมื่น สมมติหยุดได้วันเดียว และกลับมาใช้ กลายเป็นว่าทำให้ใช้ต่อเนื่องมากขึ้นอีก และถ้ามีแหล่งก็หาซื้อไม่ยาก เพราะมีทั้งรูปแบบที่ส่งถึงตัว รับเงินสด และมีรับโอนส่งต่อผ่านGrab หรือเมสเซนเจอร์ ซึ่งการหลบหลีกกฎหมายดูเป็นเรื่องง่ายมาก

พ่อแม่หรือครอบครัวรู้มั้ยว่าตอนนั้นเราใช้ยา?

ณ ตอนนั้นพ่อแม่ไม่รับรู้ว่าเราใช้ยา แต่เราเปิดเผยเอง บอกพ่อแม่เองในวันที่เรารับรู้ว่าเรามีปัญหา มันถึงวันที่ต้องการความช่วยเหลือแล้ว เพราะเราเกิดอาการซึมเศร้า วิตกจริต ต้องการจิตแพทย์ หรือหมอช่วยยาทดแทน แต่เราแจ้งคนในครอบครัวบางคน เพราะก็ต้องให้มั่นใจว่าคนนั้นเป็นคนที่เราสบายใจที่จะพูดด้วย แล้วรู้สึกปลอดภัยในการให้เค้ารับทราบ และเป็นแรงใจในการให้สำเร็จในการหยุดใช้ยาด้วย

การมีคนรับฟังช่วยได้เยอะมั้ย

การมีคนรับฟังแค่ทำให้เรารู้สึกปกติ มีความกล้ามากขึ้นที่จะได้แสดง หรือระบายความในใจอะไรสักอย่าง แต่ ณ เวลานั้นสิ่งที่ได้เล่าให้คนในครอบครัวฟัง ทำให้เราเข้าใจได้ว่า ไม่ใช่ว่าทุกคนที่รักเรา สนับสนุนเรา จะเข้าใจทุกสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราได้ รวมถึงได้รู้ว่าบางคนก็ไม่จำเป็น และไม่สมควรที่จะเล่า เพื่อความปลอดภัยในการใช้ชีวิตของเรา ที่จะใช้ชีวิตอย่างสบายใจ 

ฝนเล่าเพิ่มเติมอีกว่าในตอนนั้นมีแค่เพื่อนที่ใช้ยาด้วยกันที่รู้ว่าตัวฝนเองอยากเลิก และมีปัญหากับการควบคุม รวมถึงฝนได้ตระหนักว่าควบคุมสถานการณ์ที่ฉุดให้เราอยากกลับไปใช้เหมือนเดิมไม่ได้ เลยทำให้ตัดสินใจไม่ไปสังสรรค์ เพราะยิ่งไปอยู่ยิ่งไม่สามารถควบคุมได้ เพราะแค่อยู่กับตัวเองก็ไม่ได้อยู่แล้ว

อะไรคือจุดเปลี่ยน?

“การตั้งคำถามกับตัวเอง การรู้สึกไม่รักตัวเอง ไม่ชอบตัวเองในสิ่งที่ทำ แม้จะอยากเลิกแค่ไหน หรือพยายามหาวิธีแค่ไหน แล้ว ก็ไม่สามารถออกจากทางนั้นได้”

ได้ไปหาจิตแพทย์มั้ย?

ได้ไปหา รวมถึงแจ้งให้แพทย์ทราบว่ามีการใช้ยาเสพติดนี้ และมีสภาวะจิตใจด้านไหน ตอนแรกก็คิดว่าคุยกับผู้เชี่ยวชาญจะดีขึ้น แต่กลับเป็นว่า โอเค สภาพจิตใจอาจจะดีขึ้นนิดหน่อย แต่เราได้รับการรักษากลับมาเป็นยา ที่ส่งผลกับสารควบคุมในสมอง ซึ่งราไม่เคยเข้าไปรู้ถึงสรรพคุณของมันจริงๆ เลยทำให้เห็นถึงความอันตราย เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังใช้ยาพวกนั้น มันส่งผลกับอาชีพการทำงาน และมีความเสี่ยง แต่หมอก็ไม่ได้แจ้ง ซึ่งอาการที่เห็นได้ชัด คือหมอได้ให้ยากดประสาทเพื่ออยากให้นอนหลับ กลายเป็นว่า พอเราใช้ยาเราหลับ แต่มีอาการทำให้เราซึม เราเหนื่อย ไม่มีแรงทำงาน บวกกับช่วงของเวลาถอนพิษของสารเสพติดที่ส่งผลกับการใช้ชีวิตโดยทั่วไป ทำให้แทนที่จะส่งผลให้สภาพจิตใจดีขึ้น กับส่งผลให้เราซึมไปอีก สับสน คิดย้อนไปอีก เหมือนเราไม่ได้คำตอบจากสิ่งนี้ ไปแค่ครั้งเดียวแล้วรู้เลย ลองพยายามเปลี่ยนวิธีที่เป็นหมอคนละแบบ โดยเป็นศาสตร์ของการสะกดจิตบำบัด ก็ไม่ใช่คำตอบ 

หลังจากหาหมอแล้ว ฝนก็พยายามค้นหาหลายวิธี และนวทางในการเลิกยา แม้กระทั่งการตั้งใจเลิกแบบหักดิบ

ช่วงเลิกหับดิบหนึ่งเดือน กลายเป็นว่าเรากำหนดตัวเองเป็นผู้ป่วยแทน เป็นซึมเศร้า ผู้ป่วยทางจิตแทน เราทำงานไม่ได้ มีความกลัว เราแพนิค มือไม้สั่น และสิ่งที่เป็นความคิดที่เราเข้าใจ ด้วยสมองเรามันบอกว่า กลับไปใช้ยาแล้วมันจะดีขึ้น ซึ่งพอเรากลับไปใช้ ทุกอย่างยิ่งแย่ เราไร้ทางออก จนรู้สึกว่าต้องทำยังไงก็ได้ ให้มองว่าสิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งที่ดีละ แต่เรายังไม่เคยมองในทางที่รักตัวเอง เข้าใจตัวเอง เรามองว่า เราคือคนช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เราเป็นผู้ใช้ยา

จากการเป็นผู้หญิง โดยเฉพาะผู้หญิงที่ใช้ยา สังคมมักจะตีตราผู้หญิงมากกว่าเสมอ เรา มีข้อคิดอะไรบ้าง จากการเป็นผู้หญิงได้เปรียบหรือเสียเปรียบผู้ชายมั้ย?

อยากให้มองตัวเองในการเป็นผู้หญิงที่มีสถานะเท่าเทียม ไม่แบ่งแยก ไม่เปรียบเทียบระหว่างผู้ชาย ผู้หญิง ไม่มองว่าใครแข็งแรงกว่า อ่อนอแอกว่า มองแค่เราเอง ว่าเราแข็งแรง เราเป็นพลังให้ตัวเอง อยากให้ทุกคน ไม่ว่าผู้หญิงหรือผู้ชาย ให้มีกำลังใจในการต่อสู้กับสิ่งที่เรากำลังรับมือ ไม่ต้องสนใจว่าใครเจอมากกว่า หรือน้อยกว่า เพราะบริบทที่เติบโตมา สิ่งแวดล้อมแต่ละคนไม่เหมือนกัน

ทุกคนมีวันที่อ่อนแอ และมีวันที่เข้มแข็ง ทุกคนมีวันที่เปราะบางและกล้าหาญ แต่ถ้าเราเรียนรู้ที่จะเปิดรับทำความรู้จักสิ่งที่เป็นจุดอ่อนและทำความเข้าใจกับมันได้ เราถึงจะผ่านพ้นไปในวันที่เข้มแข็งขึ้นและเติบโตด้วยบทเรียนเสมอ

คิดว่าผู้หญิงทั่วไปที่เข้าในโลกของการใช้ยาเสพติดมีความเสี่ยงกว่ามั้ย?

มีความเสี่ยงที่จะถูกชักนำไปในทางที่ล่อแหลม หรือการที่เราอยู่ในสภาวะที่ใช้สารเคมี เพราะการรับรู้ ควบคุมพฤติกรรมของตัวเอง มันไม่เต็มร้อย หรือ อาจจะเกินร้อย ในการใช้สติสัมปชัญญะ มันเป็นเรื่องของอารมณ์และความรู้สึก ดังนั้นผลลัพธ์ที่ตามมา เราไม่อาจทราบได้ ว่าอะไรจะตามมา

บางทีผู้ชายเอายามาเป็นตัวล่อที่สร้างสัมพันธ์ มาล่อ มาสร้างความเป็นมิตร มันก็จะมีที่แบบ เอายามาพูดเป็นเรื่องปกติ เหมือนอารมณ์เวลากินเหล้า แต่ในความเป็นจริงนะ ไม่มีใครพูดถึงผลกระทบของยาเลย  ไม่เคยพูดถึงผลข้างเคียง ทุกคนจะมีอาการที่ได้รับผลกระทบจากยาเหมือนกัน

ทุกคนมองว่ามันเป็นเรื่องปกตินั่นแหละ ในการใช้ยา แต่ไม่มีใครพูดถึงความผิดปกติต่อการรับมือในการใช้ชีวิตมั้ย เพราะฉะนั้นทุกคนก็เสี่ยงเหมือนกันหมด 

แล้วอะไรที่เป็นกระบวนการที่เริ่มทำให้เปลี่ยน ?

เริ่มพูดคุยกับตัวเอง เริ่มสะท้อนความคิดตัวเอง ทำด้วยตัวเอง กลับมารักตัวเองมากขึ้น ทำความเข้าใจกับตัวเอง เลยพยายามลองหาข้อมูล อยากได้ความรู้ที่เข้าใจจริงๆ ว่าอาการผู้ใช้ยาเสพติดเป็นยังไง อาการหลังใช้ยายังไง เริ่มทำความเข้าใจระบบการบำบัดทางแพทย์ การให้กำลังใจตัวเอง การฟื้นฟู การดูแลจิตใจ เราเลยลองอ่านหาข้อมูลต่อยอดเรื่อยๆ

แรกๆ คือเสิชคำว่า อยากเลิกยา เราเสิชทั้งภาษาไทย ทั้งภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะในภาษาอังกฤษ เรามีมุมมองมากขึ้น เช่น คำว่าDrugs withdraw มันพาเราไปเจอ youtube หรือแหล่งข้อมูลสื่ออันอื่นของต่างประเทศที่เป็นของผู้มีประสบการณ์ เจอมาเหมือนเรา หรือมากกว่าเราด้วยซ้ำ เค้าก็เจ็บปวดมาจากเส้นทางนั้น เค้าต่อสู้กับมัน จนมาถึงวันนี้ เค้าเล่าเรื่องราวที่เจ็บปวดเหมือนกัน เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราค้นหามากขึ้น เพราะถ้าเราเสิชของไทยมีแต่ตัวหนังสือ บอกแค่คุณและโทษของยา คืออะไร จนจุดเปลี่ยนที่มาเจอเรื่องหลักการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากยาเสพติด ไม่ว่าจะพิษทางกาย ทางใจ เลยไปหาข้อมูลศูนย์หลักของแต่ละแหล่งข้อมูล ที่เค้าเป็นองค์กรที่ดูแลผู้ใช้ยาเสพติด และมีข้อมูลที่ทำให้เราเข้าใจแบบกว้างขวาง และเชื่อมต่อข้อมูลที่เราเข้าใจก่อนหน้านี้ได้มากขึ้น เลยเป็นทางออกของการศึกษาตัวเองมากขึ้น

ฝนบอกว่า การหาข้อมูลแบบนี้ ก็เหมือนการอ่านฉลากก่อนใช้ยา ว่าดูว่าแต่ละตัวเป็นยังไง ช่วยเราได้แค่ไหน แต่ที่สำคัญที่สุดคือ ฝนได้บทเรียนในการพัฒนาจิตใจ สะท้อนตัวเอง

 เราได้รู้ว่าสิ่งไหนดีไม่ดีกับเรายังไง สิ่งนี้ถ้าเราต้องการมัน หรือไม่ต้องการมัน ทำไมเราไม่สู้ด้วยกำลังใจ เลยกลับมาสร้างความนับถือขชองตัวเอง เราจะไม่มองย้อนกลับหลังอีกแล้ว เราต้องสู้มันต่อไป

ตอนนั้นอินเตอร์เน็ตเลยกลายเป็นแหล่งยึดเหนี่ยวจิตใจ เลยกลายเป็นเหมือนการสร้างรูปแบบที่เป็นที่ปรึกษาให้เรา เราได้รู้การพัฒนาตัวเองในทางที่ถูกต้อง

เป็นการเปลี่ยนความคิด ที่ไม่ใช่แค่คำพูดแบบกำลังใจ หรือความหวังแล้ว กลายเป็นว่า เราจะทำ ไม่ใช่แค่ว่า เราจะสู้ มันเปลี่ยนจากเราคิดว่าทำไรไม่ได้ กลายเป็นว่า เราทำได้ เราจะทำ เลยทำให้เราผ่านมันมาได้ โดยไม่ได้ย้อนกลับไปถึงตรรกะเดิมๆที่เข้าใจ เช่น การเชื่อว่า สิบอาทิตย์ ถึงจะเริ่มเลิกใช้ยาได้ แต่เราหนึ่งเดือน เราเริ่มปรับตัว กลับมาใช้ชีวิต ฝึกพัฒนาตัวเองให้ดีชึ้นเรื่อยๆ เราต้องแยกว่า นี่คือความอยาก หรือเพราะเราเคยชินกับมัน เหมือนขนม ที่เราแค่อยาก หรือ เราจำเป็นต้องกิน พอไม่ได้กินขนมเราก็อยู่ได้ เพราะมันก็ไม่ได้จำเป็น

แล้วมองให้ชัดว่าขนมนี้มันเป็นพิษต่อร่างกายเราแค่ไหนที่จะรับผิดชอบมัน ถ้ามันเป็นพิษแต่อร่อยแค่ชั่วคราว แล้วสิ่งที่เราต้องแลกกับมา ทั้งสมองร่างกายจิตใจ ทรัพยากรและเวลา มันคุ้มค่ากับตัวเราเองและคนที่รักที่ห่วงใจสนับสนุนชิวิตเรามาด้วยความรักอย่างแท้จริงมั้ย แล้วเราจะเลือกที่จะเสียใจกับการกินขนมที่ทำลายหลายสิ่งที่เราได้ให้คุณค่าไปเพื่ออะไร 

มันคงพูดง่ายกว่าทำ แต่เมื่อวันไหนเรามีสติที่จะรู้สึกที่จะเห็นค่าและเสียใจแล้ว จงให้อภัยและต่อสู้กับมันด้วยความศรัทธาและการกลับมาเคารพในตนเอง หาแหล่งยึดเหนี่ยวจิตใจ หาคุณค่าในสิ่งเล็กน้อยที่เรายังมีอยู่

เราไม่โฟกัสอดีต เราโฟกัสใจเราตัวเองตอนนี้ หาอะไรทำ ไปวิ่งมั้ย ไปฟังเพลงมั้ย เพื่อให้เราโฟกัสตัวเรา

เคยปรึกษากับคนใช้ยาด้วยกันมั้ย?

เคยปรึกษา แต่การตอบสนองที่ได้มามันไม่ได้ช่วย ไม่ได้ส่งเสริม เพราะตัวเค้ายังใช้อยู่ ยังเพลิดเพลินกับสิ่งนี้ เลยกลายเป็นว่าพูดเรื่องเดียวกันนะ แต่ควาเห็นมันต่างกัน เราก็อยากได้คำพูดที่ส่งเสริมให้เราออกจากสิ่งนี้ เลยทำให้การพูดกับคนที่ยังยินดีกับการใช้ยาอยู่ไม่ได้ช่วยอะไร สิ่งที่เราได้รับกลับมา เราต้องคิดว่ามันทำให้เรากลับมาดีขึ้นมั้ย พอเมื่อคุยแล้วรู้ว่าไม่ได้ดี ก็เลยออกมาจากเส้นทางนั้น

สิ่งที่เราได้รับกลับมา เราต้องคิดว่ามันทำให้เรากลับมาปฏิบัติตัวหรือดูแลปกป้องตัวเองได้ในทางที่ดีขึ้นมั้ย พอเมื่อคุยแล้วรู้ว่าไม่ได้ดี ก้เลยต้องออกมาจากเส้นทางนั้น ที่บางครั้งเราอาจจะเจ็บปวดกับบางความสัมพันธ์ แต่เมื่อเรามองอย่างเข้าใจว่าเราจำเป็นต้องช่วยตัวเองและสร้างความแข็งแรงกับการรับมือสิ่งที่ส่งผลกระทบจากภายนอก บางครั้ง เราต้องสร้างสิ่งแวดล้อม ตัวเราเอง และการใช้เวลาเยียวยารักษาที่จำเป็นต้องพึ่งพาด้วยการเรียนรู้เข้าใจและใช้เวลาเพื่อสร้างกำลังใจที่เป็นรากฐานให้ตัวเองให้ได้ก่อน

เราจำเป็นต้องถอยห่างจากความสัมพันธ์กลับกลุ่มคนที่ใช้ยา เพราะเราต้องการออกมาจากสิ่งนี้ เรายินดี เรายอมรับในความแตกต่าง เราเคารพในการตัดสินใจเค้า แต่ราต้องการตัดเพื่อนกลุ่มนี้ เพื่อเราจะต้องรับมือกับสิ่งที่เราเจอได้ เพราะไม่มีใครช่วยเราได้นอกจากกำลังใจตัวเอง

เราถามตัวเองว่าเราหาเงินมาเพื่อใช้ เราทำไปเพื่ออะไร และถ้าวันนึงเราหาเงินมาไม่ได้ แล้วมันจะนำไปสู่การหยิบยืมรึป่าว ขโมยหรืออะไรมั้ย ซึ่งมันอันตราย เราไม่อยากเอาตัวเราเข้าไปในจุดนั้น และบางทีตัวเราก็ไม่รู้ว่ายาที่เราได้มา ไปผสมอะไรรึป่าว ยิ่งเราไม่ได้รู้คุณภาพของยา เรายิ่งเสี่ยงอันตรายไปกันใหญ่

หลังจากที่ผ่านเรื่องเหล่านี้มา จนมาถึงหยุดยา เป็นยังไงบ้าง?

หลังจากที่เราผ่านเรื่องเหล่านี้มา เราหยุดมาไม่ถึงปีเลย ไม่กี่เดือน แต่เราได้ให้อภัยตัวเอง ไม่เสียใจกับสิ่งที่ผ่านมา ให้มองสิ่งที่ผ่านมาเป็นบทเรียน แม้ในอนาคตถ้าเราจะพลาด ก็ให้เป็นบทเรียน ว่าให้เราได้แก้ไข ได้หาคำตอบ เพื่อพาไปหาสิ่งที่ดีขึ้นได้เสมอๆ จงมีความหวัง มองอนาคตของเราในอีกสิบ ยี่สิบปีข้างหน้า ถ้าเราเลิกยาในวันนี้ ชีวิตเราจะดีขึ้นๆ ขนาดไหน

แล้วรู้จักกับรักษ์ไทยได้ยังไง?

เรารู้จักเพราะ ความปารถนาที่เป็นความหวังแรก เราต้องการคนที่เข้าใจ คนที่จะสร้างกำลังใจ โดยเฉพาะสังคมในบริบทที่มีผู้มีปัญหากับยาเสพติด เราเลยเห็นว่าอาจจะได้มีโอกาสเข้าไปพูดคุยกับบุคคลเหล่านี้ ให้แรงใจให้การสนับสนุน ว่าเราก็เหมือนกัน เคยเจ็บปวดมาเหมือนกัน ซึ่งนั่นอาจจะเป็นพลังงานยิ่งใหญ่ให้คนได้รู้สึกว่า เราไม่ได้ตัวคนเดียวนะ แต่ก็ไม่ใช่ว่าคนอื่นจะช่วยเราได้100% แต่ให้เห็นคุณค่าที่จะก้าวเดินต่อไปด้วยตัวของเราเองนี่แหละ

สุดท้ายนี้คิดว่าจะช่วยคนอื่นได้ยังไง?

“เราคิดว่าเราแชร์การช่วยเหลือได้โดยอาจจะเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับใครสักคน แล้วมันทำให้เค้าเจอทางออกของตัวเองได้ เราไม่ได้ไปช่วยเหลือเค้า แต่เราทำให้เค้าช่วยตัวเองได้ นี่เป็นสิ่งที่ทำให้เค้ายืนหยัดด้วยตัวเอง แล้วเค้าทำสำเร็จด้วยตัวเองในที่สุด”

สุดท้ายนี้เอง การเชื่อมั่นเหมือนกับฝนเ ว่าแม้ว่าเราจะเจออุปสรรค เรื่องยากๆในชีวิตมาแค่ไหน สุดท้ายแล้ว ไม่มีอะไรดีไปกว่า “การรักตัวเอง” สิ่งนี้ ที่จะทำให้เราเอาชนะ และก้าวผ่านทุกสิ่งได้ ขอแค่ให้เชื่อมั่น และมีความหวัง ว่าไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ ถ้าเราชนะใจตัวเอง

ขอเป็นกำลังใจ ให้กับผู้ใช้ยาทุกท่าน ครอบครัว รวมถึงทุกคนที่มีคนรักเป็นผู้ใช้ยาเสพติด ว่า

จงมอบความรัก และความเข้าใจ ก้าวข้ามผ่านอุปสรรคไปด้วยกัน

รู้จักเคารพตัวเอง และให้เกียรติในการตัดสินใจทางเลือกและการรับผิดชอบของตัวเอง

และไม่ต้องกลัว เพราะเมื่อใจเราแข็งแกร่งแล้ว เรานี่เอง ที่จะเป็นผู้ที่ไม่เคยแพ้

บทความที่เกี่ยวข้อง

เกี่ยวกับผู้เขียน ดูกระทู้ทั้งหมด

Ramida Chanpornpakdee