ประสานมือ รวมใจที่ขนอม

ผู้หญิงแรงงานข้ามชาติทั้งเมียนมา กัมพูชา และลาวที่ทำอาชีพคัดปลาคัดกุ้งที่จังหวัดนครศรีธรรมราชกว่า 1,000 คนนั้น มีวิถีชีวิตที่อยู่ตามห้องพักแพปลาที่ไม่มีพื้นที่มากนัก พอเลิกงานก็กลับมานั่งรวมกลุ่มคุยกัน กินข้าวด้วยกัน ปกติรายได้จากการคัดปลาคัดกุ้งจะได้เป็นรายครั้ง ซึ่งทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อย พอจะเป็นแค่ค่ากับข้าวเท่านั้น ส่วนเงินค่าเช่าห้อง (1,000-2,500 บาท ไม่รวมค่าน้ำค่าไฟ) หรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในบ้านต้องรอสามีกลับจากเรือหรือเบิกเป็นงวดมาจ่าย

เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด 19 และอัตราการติดเชื้อที่สูงขึ้นในกลุ่มแรงงานข้ามชาติทำให้ถูกกักตัวไม่ได้ทำงาน บางแพตกงานทั้งแพเพราะมีผู้ติดเชื้อ นายจ้างไม่ต้องการให้ทำงานต่อ ทำให้รายได้ขาดหายไป ผู้หญิงที่ติดเชื้อฯก็ยังต้องดูแลลูก บางคนลูกเล็กยังติดแม่ บางครอบครัวสามีไปออกเรือทำให้ไม่มีใครช่วยดูแลลูกให้ จึงไม่สามารถไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล หรือ โรงพยาบาลสนามได้ อีกทั้งปัญหาในเรื่องการสื่อสารระหว่างผู้ให้บริการด้านสุขภาพกับแรงงานเองยังมีช่องว่างที่เป็นอุปสรรค หลายคนไม่ทราบสถานะการติดเชื้อของตนเอง เพราะไม่มีอาการป่วย แรงงานไม่เข้าใจในเรื่องการดูแลตัวเองเมื่อต้องรักษาตัวที่บ้าน รวมถึงการกักตัว 14 วัน ต้องกลับมาอยู่บ้านร่วมกับคนในครอบครัวที่ไม่ติดเชื้อฯ จึงทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อในวงกว้าง

กลุ่มภาคีเครือข่ายเห็นถึงความเดือดร้อนของแรงงานข้ามชาติ จึงร่วมระดมทุนเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือ ทั้งลงขันกันเองในกลุ่ม ทั้งการใช้งบโครงการที่ได้รับจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) รวมถึงทางคณะกรรมการศูนย์การเรียนฯชาวเมียนมาก็ลุกขึ้นมาช่วยเหลือกันเอง โดยบริจาคกันซื้อข้าวสารอาหารแห้ง น้ำมันพืช รวมถึงจัดทำข้าวกล่องให้กับแรงงานข้ามชาติในชุมชนที่ถูกกักตัวและขาดรายได้ โดยใช้ศูนย์การเรียนเด็กข้ามชาติโรงเรียนสุริยันจันทราเป็นศูนย์ประสานงานโควิดสำหรับแรงงานข้ามชาติ ให้น้องๆอาสาเมียนมาและผู้ปกครองช่วยกันดูแล

การจัดการ Community Isolation โดยสถานประกอบการแพปลา สำหรับกักตัวแรงงานข้ามชาติที่ผ่านการรักษาจากโรงพยาบาลสนาม ต้องกักตัวต่ออีก 14 วัน นายจ้างให้กักตัวอยู่บนเรือ โดยแบ่งชั้นบนสำหรับผู้ไม่ติดเชื้อ ชั้นล่างสำหรับผู้ติดเชื้อ นายจ้างจะมีเรือเล็กไปส่งอาหารให้สัปดาห์ละ 2 ครั้ง แรงงานประกอบอาหารกินกันเองในเรือ นายจ้างแพรายใหญ่ 2-3 รายที่มีลูกจ้างประจำยอมจ่ายค่าตรวจ 400 บาท และค่าตรวจ PCR 3,000 บาท ให้กับแรงงานข้ามชาติลูกเรือประมงเอง โดยประสานไปที่โรงพยาบาลให้มาตรวจหาเชื้อที่แพ นายจ้างร่วมดูแลและกักตัวลูกจ้างที่ติดเชื้อเอง เพราะไม่อยากให้เกิดการแพร่ระบาดเพิ่ม และส่งผลกระทบต่อธุรกิจ รวมถึงทางโรงพยาบาลขอความร่วมมือกับนายจ้างให้ช่วย

สนับสนุน เพราะมีงบประมาณไม่เพียงพอ ทำให้นายจ้างหลายแพก็ร่วมกันบริจาคเงิน สิ่งของให้กับโรงพยาบาลสนามด้วย

ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนมีความสำคัญอย่างยิ่งในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด 19 รวมไปถึงความช่วยเหลือที่ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่จำกัดเชื้อชาติ โดยใช้หลักสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่ควรจะได้รับเป็นสิ่งที่จะทำให้สถานการณ์คลี่คลายได้เป็นอย่างดี

ผู้ให้ข้อมูล คุณแสงตะวัน งามกาหลง 
ผู้เรียบเรียง วิริญญ์ ว่องประเสริฐการ

เกี่ยวกับผู้เขียน ดูกระทู้ทั้งหมด เว็บไซต์ผู้เขียน

Admin