ผู้หญิงกับยาเสพติด

โดยทั่วไปผู้หญิงที่ติดยาเสพติดมีจำนวนน้อยกว่าผู้ชาย สัดส่วนระหว่างเพศหญิงกับเพศชายแตกต่างกันระหว่างยาเสพติดแต่ละประเภท เช่นจากรายงานปี 2022 ของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office On Drugs and Crime) หนึ่งในสองของผู้ใช้ยาบ้า (amphetamine) เป็นหญิง 15% ของผู้ใช้ยาเสพติดตระกูลฝิ่นเป็นหญิง 38% ของผู้ใช้ยาอี (ecstasy) เป็นหญิง และ 27% ของผู้ใช้โคเคนเป็นหญิง แต่ในการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดนั้น ผู้หญิงโดยรวมจะได้รับการบำบัดต่ำกว่าสัดส่วน เช่น ในการบำบัดผู้ติดยาบ้ามีผู้หญิงต่ำกว่า 1 ใน 5

ความเข้าใจที่ดีกว่าเกี่ยวกับบทบาทของเพศ (sex) และ เพศสภาพ (gender) ต่อการใช้ยาเสพติดและการติดยาเสพติดจึงเรื่องที่สำคัญมาก สถาบันแห่งชาติเกี่ยวกับการใช้ยาเสพติด (National Institute on Drug Abuse) ของสหรัฐอเมริกานิยาม “เพศ” ว่าหมายถึงความแตกต่างด้านชีววิทยา ส่วน “เพศสภาพ” นั้นหมายถึงความแตกต่างระหว่างหญิงกับชายที่นิยามโดยวัฒนธรรม

ผู้หญิงที่ใช้ยาเสพติดอาจมีปัญหาเกี่ยวกับฮอร์โมน รอบประจำเดือน ภาวะเจริญพันธุ์ การตั้งครรภ์ การเลี้ยงลูกด้วยนม และวัยหมดประจำเดือน สาเหตุที่ใช้ยาเสพติดในผู้หญิงรวมถึงเพื่อคุมน้ำหนัก แก้เพลีย ลดอาการปวด หรือใช้ยาเสพติดในความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาด้านจิตใจด้วยตัวเอง

ข้อเท็จจริงที่นักวิจัยเกี่ยวกับยาเสพติดค้นพบรวมถึง:

๐ การใช้ยาเสพติดในผู้หญิงมักจะแตกต่างจากการใช้ในผู้ชาย เช่นผู้หญิงใช้ยาเสพติดในปริมาณที่น้อยกว่าผู้ชายที่ใช้ยาเสพติดชนิดเดียวกัน และเวลาโดยเฉลี่ยตั้งแต่เริ่มใช้จนถึงติดยาเสพติดนั้นน้อยกว่าเวลาโดยเฉลี่ยของผู้ชาย

๐ ผู้หญิงอาจมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อยาเสพติดชนิดหนึ่งแตกต่างกว่าผู้ชาย เช่น ผู้หญิงอาจมีความรู้สึกอยากยามากกว่าผู้ชาย และมีความเป็นไปได้มากกว่าผู้ชายที่จะกลับไปใช้ยาเสพติดนั้นซ้ำอีก (relapse) หลังจากที่ได้รับการบำบัดแล้ว

๐ ฮอร์โมนเพศอาจทำให้ผู้หญิงมีความอ่อนไหวต่อยาเสพติดบางอย่างมากกว่าผู้ชาย

๐ ผู้หญิงที่ใช้ยาเสพติดอาจมีผลของยาเสพติดต่อหัวใจและหลอดเลือดมากกว่า

๐ การเปลี่ยนแปลงทางสมองในผู้หญิงที่ใช้ยาเสพติดอาจมีมากกว่าผู้ชาย

๐ ผู้หญิงอาจมีโอกาสมากกว่าต่อการต้องถูกส่งไปรักษาที่แผนกคนไข้ฉุกเฉิน หรือตายจากการโอเวอร์โด๊สหรือเกิดผลต่างๆของยามากกว่าผู้ชาย

๐ ผู้หญิงที่เป็นเหยื่อของความใช้ความรุนแรงในครอบครัวมีความเสี่ยงท่ีมากกว่าต่อการใช้ยาเสพติด

๐ การหย่าร้าง การสูญเสียสิทธิการเป็นผู้ปกครองของบุตร หรือการตายของคู่ครองหรือบุตรอาจเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้หญิงใช้ยาเสพติดหรือเกิดอาการทางจิตต่างๆ

๐ ผู้หญิงที่ใช้ยาเสพติดบางอย่างมีโอกาสมากกว่าที่จะเกิดอาการตกใจกลัวอย่างรุนแรง (panic attack) ความวิตกกังวล หรืออาการซึมเศร้า

การใช้ยาเสพติดในระหว่างการตั้งครรภ์และเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

การใช้ยาเสพติดในระหว่างการตั้งครรภ์อาจเป็นเรื่องที่เสี่ยงต่อสุขภาพของแม่และต่อบุตรทั้งในระยะใกล้และระยะไกล ยาเสพติดส่วนมากทั้งยาตระกูลฝิ่นและยากระตุ้นต่างๆอาจเป็นอันตรายแก่ทารกในครรภ์ การใช้ยาเสพติดเพิ่มความเสี่ยงต่อการแท้งบุตร อาจทำให้แม่มีอาการไมเกรน ชัก หรือความดันโลหิตสูง ที่อาจมีผลต่อทารกในครรภ์ นอกจากนั้นแล้วความเสี่ยงต่อการตายของทารกในระหว่างคลอดในผู้หญิงที่สูบบุหรี่ สูบกัญชา กินยาแก้ปวดที่แพทย์สั่ง หรือใช้ยาเสพติดในระหว่างตั้งครรภ์ สูงขึ้นถึง 2-3 เท่า

การสำรวจความคิดเห็นหลายโครงการแสดงว่าผู้หญิงที่ใช้กัญชาในระหว่างตั้งครรภ์มีเพิ่มมากขึ้นซึ่งทำให้ผู้ที่ทำงานด้านสุขภาพเกิดความกังวล สมาคมสูตินารีแพทย์ของสหรัฐอเมริกา (The American College of Obstetrics and Gynecology  หรือ ACOG) แนะนำว่าการใช้กัญชาในขณะตั้งครรภ์อาจทำให้ทารกมีขนาดเล็กกว่าโดยเฉพาะในผู้หญิงที่ใช้กัญชาบ่อยครั้งในช่วงไตรมาสที่หนึ่งและที่สองของการตั้งครรภ์ และ สมาคมสูตินารีแพทย์ของสหรัฐอเมริกาแนะนำว่าสำหรับผู้หญิงที่ต้องการตั้งครรภ์ควรหยุดใช้กัญชารวมถึงการใช้กัญชาด้วยเหตุผลทางการแพทย์ด้วย และควรปรึกษากับแพทย์เกี่ยวกับทางเลือกต่างๆที่จะให้ทารกมีสุขภาพดี ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ควรปรึกษากับแพทย์ก่อนเริ่มใช้ยาหรือสารใดใด

เมื่อผู้หญิงใช้ยาเสพติดเป็นประจำในระหว่างการตั้งครรภ์ ทารกที่เกิดมาอาจมีการติดยาเสพติดตั้งแต่กำเนิดและอาจมีอาการลงแดงหลังการคลอดซึ่งเป็นสภาวะที่เรียกว่า neonatal abstinence syndrom หรือ NAS  (กลุ่มอาการทารกแรกเกิดมีอาการขาดยา) การวิจัยแสดงว่าภาวะนาส (NAS) อาจเกิดขึ้นได้กับหญิงตั้งครรภ์ที่ใช้ยาตระกูลฝิ่น เหล้า คาเฟอีน หรือยาระงับประสาทบางอย่างที่แพทย์จ่ายให้ใช้ ประเภทและความรุนแรงของอาการขาดยาของทารกขึ้นอยู่กับยาที่แม่ใช้ ความถี่และระยะเวลาที่แม่ใช้ และการที่ร่างกายของแม่เผาผลาญยานั้น และทารกคลอดตามกำหนดหรือก่อนกำหนด

อาการภาวะนาสอาจเกิดขึ้นได้ทันทีจนถึง 14 วันหลังคลอด กลุ่มอาการนี้รวมถึง:

๐ ผิวหนังเป็นจุด

๐ ท้องร่วง

๐ ร้องไห้มากหรือร้องไห้เสียงสูง

๐ มีไข้

๐ หัวใจเต้นเร็ว

๐ ดูดนมลำบาก

๐ หงุดหงิด

๐ หายใจถี่

๐ ชัก

๐ มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ

๐ น้ำหนักตัวเพิ่มช้า

๐ ตัวสั่น

๐ อาเจียน

นอกจากนั้นแล้วหญิงตั้งครรภ์ที่ใช้ยาเสพติดอาจมีผลระยะยาวต่อทารก รวมถึงผลต่อการเสียชีวิตของทารกด้วย อาการระยะยาวรวมถึง:

๐ พิการแต่กำเนิด

๐ น้ำหนักเมื่อเกิดต่ำ

๐ เกิดก่อนกำหนด

๐ ขนาดของหัวเล็ก

๐ โรคเสียชีวิตฉับพลันในเด็ก (sudden infant death syndrome) หรือโรคไหลตายในทารก

สารเสพติดบางอย่าง เช่น กัญชา เหล้า นิโคตีน และยาบางชนิด อาจตรวจพบในน้ำนมแม่ได้ อย่างไรก็ตามยังมีข้อมูลไม่เพียงพอเกี่ยวกับผลระยะยาวในทารกที่ได้สัมผัสกับสารเหล่านี้ในน้ำนมแม่ และนักวิทยาศาสตร์รู้แน่ว่าวัยรุ่นที่ใช้ยาเสพติดในขณะที่สมองยังพัฒนาไม่เต็มที่อาจทำให้ความสามารถในการเรียนรู้ของสมองเสียหายได้ ดังนั้นความเสี่ยงต่อปัญหาเกี่ยวกับสมองอาจเกิดขึ้นได้ในทารกที่ได้สัมผัสกับยาเสพติด เมื่อคำนึงถึงความเป็นไปได้ของยาเสพติดทุกชนิดที่มีผลต่อพัฒนาการของสมองของทารกแล้ว ผู้หญิงที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ควรปรึกษากับแพทย์เกี่ยวกับการใช้ยาเสพติดของตน

ความแตกต่างของเพศและเพศสภาพในการรักษาการติดยาเสพติด

สิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักคือการบำบัดการใช้ยาเสพติดสำหรับผู้หญิงอาจมีผลที่แตกต่างไปจากผู้ชาย โดยทั่วไปผู้หญิงบอกว่าได้ใช้ยาเสพติดมาเป็นเวลาสั้นกว่าผู้ชายเมื่อผู้หญิงเข้ารับการบำบัดยาเสพติด แต่ความก้าวหน้าจากการเริ่มใช้ยาเสพติดไปสู่การติดยาเสพติดของผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะเร็วกว่าผู้ชาย อาการลงแดงในผู้หญิงอาจจะรุนแรงกว่า และในบางกรณีผู้หญิงเกิดปฏิกิริยาตอบสนองต่อการรักษาบางอย่างต่างไปจากผู้ชาย ตัวอย่างเช่น การทดแทนนิโคตีนที่เป็นแผ่นปะหรือหมากฝรั่งมีผลไม่ดีสำหรับผู้หญิงเมื่อเทียบกับผู้ชาย

ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องยากสำหรับทุกคนในการเลิกยาเสพติด แต่สำหรับผู้หญิงแล้วผู้หญิงบางคนอาจไม่กล้าที่จะขอความช่วยเหลือให้เลิกยาเสพติดในระหว่างที่ตั้งครรภ์หรือหลังการตั้งครรภ์เพราะความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางกฏหมายหรือทางสังคม และความกังวลเกี่ยวกับไม่มีคนดูแลบุตรในระหว่างที่ผู้หญิงเข้ารับการรักษาให้เลิกยาเสพติด ผู้หญิงที่ได้รับการบำบัดให้เลิกยาเสพติดจะต้องได้รับความช่วยเหลือเพื่อแบ่งเบาภาระของผู้หญิงทั้งที่เกี่ยวกับการทำงาน การดูแลบ้าน การดูแลลูก และความรับผิดชอบอื่นๆต่อครอบครัว

โปรแกรมบางอย่างอาจช่วยให้ผู้หญิงเลิกใช้ยาเสพติดได้อย่างปลอดภัย และอาจเป็นโปรแกรมที่เกี่ยวกับการดูแลหลังการคลอดบุตรด้วย การบำบัดยาเสพติดสำหรับผู้หญิงบางอย่างแสดงว่าได้ผลโดยเฉพาะการบำบัดที่ให้บริการเกี่ยวกับการดูแลเด็ก บริการที่สอนการเป็นผู้ปกครอง และการอบรมเกี่ยวกับอาชีพ ยาบางอย่างเช่น เมทาโดน (methadone) และบิวพรีนอร์ฟีน (buprenorphine) ที่ใช้ร่วมกับบริการต่างๆที่เอ่ยถึงข้างบนอาจช่วยให้ได้ผลดีขึ้น ทารกบางคนอาจต้องการความช่วยเหลือเกี่ยวกับการติดยาเสพติด อย่างไรก็ตามผลการรักษาทารกจะดีขึ้นหากว่าแม่กินยาบำบัดการเสพติดในระหว่างตั้งครรภ์แทนที่การใช้ยาเสพติด

ผู้หญิงกับการวิจัย

ความแตกต่างระหว่างหญิงกับชายเน้นถึงความสำคัญที่ต้องรวมผู้หญิงในการวิจัยเกี่ยวกับยาเสพติดให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ในอดีตที่ผ่านมาผู้หญิงมักจะไม่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมการวิจัยเกือบทุกอย่างเพราะความเชื่อว่าผู้หญิงแตกต่างทางชีววิทยาจากผู้ชายและเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อนกว่าผู้ชาย รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับภาระหน้าที่ของผู้หญิงต่อครอบครัวทำให้ผู้หญิงไม่มีเวลาสำหรับการวิจัย แต่การยกเว้นคนกลุ่มหนึ่งออกจากการวิจัยทำให้ความรู้ที่ได้จากการวิจัยเป็นประโยชน์ต่อคนบางส่วนของสังคมเท่านั้น การรวมผู้หญิงเข้าในการวิจัยต่างๆรวมทั้งการวิจัยเกี่ยวกับยาเสพติดจะเป็นการรับประกันว่าประเด็นทางสาธารณสุขที่เกี่ยวกับเพศและเพศสภาพได้รับการศึกษาอย่างเป็นระบบด้วย

การวิจัยเกี่ยวกับยาเสพติดที่รวมผู้หญิงในจำนวนที่มากพอที่จะแสดงผลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติจะช่วยเพิ่มข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาบริการเพื่อลดอันตรายแก่ผู้หญิงที่ใช้ยาเสพติดที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตของพวกเธอ อย่างไรก็ตามการวิจัยเกี่ยวกับผู้ใช้ยาเสพติดมีความท้าทายหลายอย่างที่ต้องพิจารณาอย่างระมัดระวังโดยเฉพาะอย่างยิ่งการสรรหาและคัดเลือกผู้เข้าร่วมการวิจัยที่เป็นประชากรชายขอบที่ถูกรังเกียจ ถูกกีดกัน และถูกคุกคามลงโทษในด้านต่างๆมาโดยตลอดไม่ว่าจะเป็นทางสังคม เศรษฐกิจ นโยบาย และกฏหมาย ซึ่งทำให้คนกลุ่มนี้กลายเป็นกลุ่มคนที่หลบซ่อนปิดบังตนเองและทำให้การเข้าถึงเพื่อทำงานด้วยและเพื่อเชิญให้เข้าร่วมการวิจัยเป็นเรื่องยากพอสมควร

ความท้าทายอื่นๆรวมถึงการขอความยินยอมเข้าร่วมการวิจัยโดยความสมัครใจอย่างแท้จริงและหลังจากที่ได้รับข้อมูลอย่างรอบด้านที่เป็นที่เข้าใจได้สำหรับประชากรกลุ่มเป้าหมาย การปกป้องความลับส่วนบุคคลและความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ยาเสพติดที่เข้าร่วมการวิจัย การจ่ายค่าตอบแทนแก่ผู้ใช้ยาเสพติดที่เข้าร่วมการวิจัยอย่างเหมาะสมยุติธรรมและที่ไม่เป็นการโน้มน้าว และแผนการจัดการกับอันตรายต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นได้กับผู้เข้าร่วมการวิจัยและความทุกข์ร้อนต่างๆที่เกิดขึ้นกับผู้เข้าร่วมการวิจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับการเข้าร่วมการวิจัย

ความท้าทายด้านจริยธรรมเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่ควรได้รับการอภิปรายมากขึ้น แต่นอกเหนือจากเป้าหมายของบทความนี้

แหล่งอ้างอิง:

บทความที่เกี่ยวข้อง

เกี่ยวกับผู้เขียน ดูกระทู้ทั้งหมด

อุดม ลิขิตวรรณวุฒิ