การลดอันตรายจากยาเสพติดจะประสบความสำเร็จได้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย และที่จะขาดเสียมิได้คือการทำงานของภาคประชาสังคม โดยที่ผ่านมาโครงการลดอันตรายจากยาเสพติด STAR 2564-2566 มีองค์กรผู้รับทุนรองทั้งหมด 20 องค์กร ในจำนวนนี้เป็นองค์กรที่เกิดใหม่ 6 องค์กร
น่าสนใจว่าองค์กรพัฒนาเอกชนที่เกิดใหม่เหล่านี้มีศักยภาพและกระบวนการทำงานด้านการลดอันตรายจากยาเสพติดกันอย่างไร
หนึ่งในนั้นคือ กลุ่ม ฅ ฅน เพื่อการเปลี่ยนแปลง จ.เชียงราย เป็นองค์กรที่มีทีมงานเข้มแข็ง ส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ซึ่งมีประสบการณ์ด้านงานลดอันตรายมากว่าสิบปี จากการทำงานร่วมกับในองค์กรอื่นมาก่อนหน้านี้ มีความคุ้นเคยกับเชียงรายเป็นอย่างดี ทั้งในแง่ที่ว่าเป็นบ้านเกิดและเป็นพื้นที่ทำงาน
เชียงรายเป็นจังหวัดชายแดน ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาสูง อยู่ติดชายแดนประเทศเมียนมาและลาว เป็นแหล่งพักยาเสพติดจากชายแดนสู่เมืองชั้นใน ก่อนที่จะส่งออกไปยังประเทศอื่น ผู้คนที่อาศัยอยู่นั้นประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลายบนพื้นที่สูง เดิมเป็นพื้นที่ปลูกฝิ่น มีการใช้ฝิ่นเป็นยาสามัญประจำบ้าน และในพิธีกรรม ต่อมาได้พัฒนาเป็นการใช้เฮโรอีน และแอมเฟตามีนร่วมด้วย จึงเป็นพื้นที่ที่มีการใช้สารเสพติดแบบผสมผสาน
กลุ่ม ฅ ฅน เพื่อการเปลี่ยนแปลง ดูแลรับผิดชอบพื้นที่จังหวัดเชียงราย ในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.พาน อ.แม่ฟ้าหลวง อ.แม่จัน และ อ.เชียงแสน ด้วยทีมงานทั้งหมด 23 คน ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ 6 คน ผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ 4 คน อาสาสมัคร 13 คน ซึ่งในทีมงานผู้เคยใช้ยาร่วมงานด้วยจำนวนหนึ่ง มีเป้าหมายการทำงานอยู่ที่การลดอัตราการติดเชื้อรายใหม่ของเอชไอวี (HIV) โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ไวรัสตับอักเสบบีและซี และวัณโรค รวมถึงการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด (Harm Reduction)
เกือบ 3 ปีที่ผ่านมา การดำเนินงานของกลุ่ม ฅ ฅน เพื่อการเปลี่ยนแปลง วางเป้าหมายในการเข้าถึงผู้ใช้สารเสพติดด้วยวิธีฉีด (PWID) ไว้ที่ 1,203 ราย คิดเป็น 82% ซึ่งเป็นเพศชาย 1,044 คน เพศหญิง 159 คน ส่วนผลการดำเนินงานตามตัวชี้วัดหลัก ตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการ มียอดให้บริการอุปกรณ์สะอาดจำนวน 130,485 ชิ้น (ข้อมูล ณ เดือนสิงหาคม 2566)
กษมา อายิ ผู้จัดการกลุ่ม ฅ ฅน เพื่อการเปลี่ยนแปลง กล่าวว่าจุดเด่นของทีมงานคือมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ซึ่งมีทั้งอาข่า ลีซู ลาหู่ ไทยใหญ่ คนจีน คนพื้นราบ (คนเมือง)
“การเป็นกลุ่มชาติพันธุ์มีข้อดีคือเพื่อนหรือ คนในชุมชนให้ความไว้วางใจในการสร้างความสัมพันธ์ มากกว่าคนภายนอกที่เข้าไป เนื่องด้วยวัฒนธรรม ด้วยภาษา ด้วยวิถีชีวิต แล้วบุคลากรของพวกเรา น้อง ๆ พี่ ๆ หลายคนอาศัยอยู่ในชุมชนในพื้นที่ที่เราทำงานอยู่แล้ว” กษมา กล่าวถึงจุดแข็งของกลุ่มที่เป็นข้อได้เปรียบในการทำงานกับกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้สารเสพติดชนิดฉีด (PWID) ซึ่งมักหวาดระแวง หรือไม่กล้าเปิดเผยตัว
โดยส่วนตัวกษมาเองนั้นมีประสบการณ์การทำงานลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด มาเป็นเวลา 14 ปี เห็นว่าจุดยากในการทำงานคือ มุมมองทัศนคติ ที่งานด้านนี้ถูกพูดถึงเฉพาะคนในแวดวงสาธารณสุขเป็นหลัก แต่บุคลากรในสายมหาดไทย สายปราบปราม รวมถึงประชาชนทั่วไปยังไม่ค่อยเข้าใจงานด้านนี้มากนัก
ดังจะเห็นได้จากกรณีของ เดช วัย 52 ปี ชาวเมืองเชียงรายโดยกำเนิด เข้ามาเป็นอาสาสมัครกลุ่ม ฅ ฅน เพื่อการเปลี่ยนแปลง เมื่อปีที่แล้ว เขาบอกว่าเริ่มแรกที่มาทำงานด้านลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติดมีความกังวล ว่างานที่ทำอยู่นี้จะไปขัดผลประโยชน์ใครหรือไม่ เพื่อนรอบตัวก็สงสัยว่าจะทำไปทำไม
จนกระทั่งเวลาผ่านไปหนึ่งปี เขาจึงเริ่มชัดเจนกับงานที่ทำมากขึ้น ว่าประเด็นหลักเป็นการดูแลสุขภาพ พร้อมกับเริ่มปรับทัศนะตนเองที่มีต่อผู้ใช้สารเสพติด ในขณะที่ได้ผ่านการอบรมเรื่องการให้คำปรึกษาแก่กลุ่มคนหลากหลาย ทั้งกลุ่มชายรักชาย และกลุ่มอื่นที่มีความเปราะบางละเอียดอ่อน
การแจกอุปกรณ์สะอาด (เข็ม) ถุงยางอนามัย เป็นหนึ่งในบริการที่มีให้กับกลุ่มเป้าหมายไว้ใช้ในการป้องกันตนเอง นอกเหนือไปจากการส่งต่อให้เข้าถึงบริการด้านสุขภาพ ได้แก่ การตรวจคัดกรองเอชไอวีเบื้องต้น การส่งต่อรักษาเอชไอวี/เอดส์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ไวรัสตับอักเสบ วัณโรค และ สารทดแทนเมทาโดน
ด้วยลักษณะภูมิประเทศของเชียงรายส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สูง เพื่อนผู้ใช้ยาเสพติดมักอาศัยอยู่ตามหมู่บ้านบนดอยที่ห่างไกลจากตัวเมืองหรือโรงพยาบาล อันเป็นอุปสรรคหนึ่งในการเข้ารับเมทาโดน เพื่อบำบัดการเสพยา ทางกลุ่ม ฅ ฅน เพื่อการเปลี่ยนแปลง เห็นความสำคัญของการกระจายจุดรับเมทาโดนในชุมชน โดยได้ทำงานประสานเชื่อมกับโรงพยาบาลแม่ฟ้าหลวง และโรงพยาบาลแม่จัน จนสามารถจัดตั้งศูนย์บริการสุขภาพชุมชน และให้บริการเมทาโดนชุมชน 5 แห่ง ซึ่งอยู่ใน อ.แม่ฟ้าหลวง 4 แห่ง อ.แม่จัน 1 แห่ง มีผู้ได้รับบริการเมทาโดนชุมชน ทั้งหมด 236 ราย เป็นชาย 203 คน หญิง 33 คน
ในการทำงานเมทาโดนชุมชนจำเป็นต้องมีการประสานงานกับโรงพยาบาลในพื้นที่ ให้เห็นความสำคัญว่าการอำนวยความสะดวกเช่นนี้ประโยชน์จะตกถึงผู้ใช้สารเสพติดที่สมัครใจบำบัด ไม่ต้องเดินทางจากหมู่บ้านบนป่าดอยที่ห่างไกล เสียเวลาทั้งวันเพื่อมารับเมทาโดนที่โรงพยาบาล
จากการทบทวนการทำงานภายในกลุ่มเพื่อวางยุทธศาสตร์การทำงานในการก้าวเดินต่อไป ทางกลุ่มเห็นว่าน่าจะต้องมีการเปิดพื้นที่การทำงานเมทาโดนชุมชนออกไปให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ในเชียงราย และยังมีแผนจะทำ Community Led Monitoring หรือ CLM ติดตามศึกษาเรื่อง “ปัจจัยที่มีผลต่อการเข้ารับบริการเมทาโดนของผู้ใช้ยาในพื้นที่ศูนย์บริการสุขภาพชุมชนกลุ่ม ฅ ฅน เพื่อการเปลี่ยนแปลง” เพื่อนำไปสู่การพัฒนางานให้เป็นที่พอใจแก่ผู้ใช้บริการในอนาคต
หากดูจากสถิติการเข้าถึง “เพื่อน” ผู้ใช้สารเสพติดชนิดฉีดที่เข้าถึงได้ถึง 1,203 คน และสามารถตรวจเอชไอวีได้ 771 คนในช่วงเวลา 3 ปี ทั้ง ๆ ที่เป็นการทำงานในพื้นที่เข้าถึงได้ยากและมีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ กล่าวได้ว่าการทำงานของกลุ่ม ฅ ฅน เพื่อการเปลี่ยนแปลง อยู่ในระดับที่น่าพอใจ แม้จะเพิ่งตั้งกลุ่มได้ไม่นาน
ทั้งนี้ หากมองไปในอนาคตจะพบว่ามีความท้าทายรออยู่ อันได้แก่ความท้าทายในการค้นหา PWID กลุ่มใหม่ เช่น เยาวชน ชายรักชาย(MSM) ความท้าทายในการเปิดพื้นที่ในการค้นหา PWID รายใหม่ ที่ต้องอาศัยการทำงานในพื้นที่ Online ความท้าทายในการตรวจคัดกรองเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบเชิงรุก ด้วยชุดตรวจ Self Test ตลอดจนถึงความท้าทายในการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการของผู้หญิงที่ใช้สารเสพติดที่จะต้องมีกิจกรรมและพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิง เป็นต้น
จากการดำเนินงานสามปีที่ผ่านมาโดยยึดหลักการ “เพื่อนช่วยเพื่อน” และทำงานร่วมกับเครือข่ายองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน จนผลงานเป็นที่ประจักษ์ กลุ่ม ฅ ฅน เพื่อการเปลี่ยนแปลง ได้รับคัดเลือกจากมูลนิธิมิตรภาพบำบัด ให้เข้ารับรางวัลมิตรภาพบำบัดดีเด่น ระดับชุมชน ประเภท “องค์กรพัฒนาเอกชน/องค์กรชุมชน/องค์กรสาธารณประโยชน์/กลุ่มบุคคล” ในเดือนมกราคม 2567 ที่จะถึง
ทั้งหมดของงานที่คนกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มนี้กำลังทำอยู่และจะก้าวเดินต่อไปนั้น แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของคนทำงานที่มุ่งมั่นจะสร้างโอกาสพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนของตน ให้เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นให้สมกับชื่อของกลุ่ม ฅ ฅน เพื่อการเปลี่ยนแปลง นั่นเอง