กลุ่มแคร์ทีมสงขลากับงานลดอันตรายจากยาเสพติดลงสู่ชุมชน

แคร์ทีมสงขลา” (Care team Songkhla) หรือ “กลุ่มคนทำงานดูแลผู้ใช้สารเสพติดในจังหวัดสงขลา” เป็นองค์กรใหม่ 1 ใน 6 องค์กรที่เป็นผู้รับทุนรองในโครงการลดอันตรายจากยาเสพติด STAR 2564-2566 มีผลงานโดดเด่นหลายโครงการ ซึ่งมีความน่าสนใจในกระบวนการและวิธีคิดในการทำงาน เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและอำนวยความสะดวกแก่ผู้รับบริการให้ได้มากที่สุด

ซูฮายนงค์ สมาเฮาะ ผู้จัดการกลุ่มแคร์ทีมสงขลา กล่าวว่าแคร์ทีมเป็นกลุ่มคนทำงานดูแลผู้ใช้สารเสพติดในจังหวัดสงขลา จัดตั้งกลุ่มเมื่อเดือนมกราคม 2564  ก่อนหน้านี้ทีมงานมีประสบการณ์การทำงานด้านลดอันตรายจากยาเสพติดมาก่อน อย่างน้อยคนละ 6-10 ปี แต่หน่วยงานเดิมปิดตัวลง ดังนั้นคนทำงานเดิมเกือบทั้งหมดที่ต้องการสานงานต่อ จึงจัดตั้งองค์กรใหม่ และเข้าร่วมงานกับโครงการ STAR เมื่อเดือนเมษายน 2564 ซึ่งได้รับการรับรององค์กรจากนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดและพัฒนาร่วมกันกับมูลนิธิรักษ์ไทย ที่เป็นพี่เลี้ยงให้ตั้งแต่เริ่มแรก

แคร์ทีมทำงานร่วมกับทั้งภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชนในจังหวัดสงขลา  อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในคณะกรรมการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัด (ศอ.ปส.จ.)ในฐานะที่เป็นภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านการลดอันตราย (Harm reduction)

“ช่วงแรกที่ตั้งองค์กรใหม่ ๆ ในการทำงานกับภาครัฐไม่ง่ายเลย เพราะเราต้องพิสูจน์ว่าเราทำงานเพื่ออะไร ต้องบอกให้ชัดเจน และในการทำงานร่วมกับภาคีจะช่วยเราได้มาก ไม่ได้ทำงานอย่างโดดเดี่ยว ภาคประชาสังคมไม่ใช่ทำงานเฉพาะระหว่างNGO กับโรงพยาบาล ปัญหามากมายเกี่ยวกับผู้ใช้ยาไม่ได้เกี่ยวข้องกับสาธารณสุข แต่ยังต้องทำงานกับตำรวจ เพราะอาสาสมัครของเราต้องเดินทางผ่านด่าน ต้องชี้แจงทำความเข้าใจว่าเราต้องพกเข็ม เขาต้องเข้าใจงาน  การคุยกับตำรวจนั้นยาก และแต่ละสถานีตำรวจก็ไม่เหมือนกัน” ซูฮายนงค์กล่าว

เจ้าหน้าที่ของแคร์ทีมทั้งหมด 22 คนนั้น มีทั้งอดีตผู้ใช้ยาและผู้ใช้ยาที่กำลังรับเมทาโดนทำงานร่วมกัน โดยทีมงานประกอบด้วยเจ้าหน้าที่บริหารและเจ้าหน้าที่ภาคสนาม ซึ่งแบ่งเป็นภาคสนามลงพื้นที่ประสานงานกับแกนนำหรืออาสาสมัครในพื้นที่ 8 อำเภอในจังหวัดสงขลา กับเจ้าหน้าที่ภาคสนามออนไลน์ดูแลการสื่อสารผ่านช่องทางสื่อสังคมต่าง ๆ

พื้นที่ที่แคร์ทีมดูแล 8 อำเภอในจังหวัดสงขลา ได้แก่ อำเภอเมือง ระโนด หาดใหญ่ รัตภูมิ จะนะ เทพา นาทวี และสะเดา  โดยมีกลุ่มประชากรหลักคือผู้ใช้สารเสพติดชนิดฉีด (PWID) ในส่วนของสถานการณ์การใช้ยาเสพติดมีความแตกต่างกันไปตามแต่ละบริบทในแต่ละแห่ง กล่าวคือพื้นที่เขตประมงอย่างในจะนะและเทพามีการใช้เฮโรอีน ยาบ้า กระท่อมและกัญชา ส่วนในหาดใหญ่พบการใช้เฮโรอีนและไอซ์  พื้นที่เขตด่านนอก อำเภอสะเดา ส่วนใหญ่จะมีเฮโรอีนและยาบ้า

รูปแบบการให้บริการของแคร์ทีมจำแนกได้เป็น 3 แนวหลัก โดยแนวแรกเป็นการบริการเชิงตั้งรับ ด้วยการเปิดพื้นที่พบปะแลกเปลี่ยนกับสมาชิกแบบเช้ามา-เย็นกลับ ที่Drop in Center(DIC) โดยศูนย์หลักตั้งอยู่ในตัวอำเภอจะนะ มีการให้คำปรึกษา ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคเอชไอวี โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ไวรัสตับอักเสบซี วัณโรค และการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด มีการแนะนำการตรวจรักษาเอชไอวี  การตรวจ คัดกรอง รักษาไวรัสตับอักเสบซี ไวรัสตับอักเสบบีที่คลินิก C-Free

แนวที่สองเป็นการให้บริการเชิงรุก โดยอาสาสมัครระดับพื้นที่พบกลุ่มเป้าหมาย เข้าหารายบุคคลแบบเพื่อนช่วยเพื่อน เพื่อให้ความรู้ บริการอุปกรณ์สะอาด มีการจัดกิจกรรมกลุ่ม และกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้ด้านเอชไอวี การลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด และโมบายคัดกรองเบื้องต้นเอชไอวีในพื้นที่

แนวที่สามเป็นการให้บริการเชิงรุกออนไลน์ ซึ่งจะค้นหาและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งจัดทำข้อมูลประชาสัมพันธ์ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ ทวิตเตอร์ และไลน์กรุ๊ป เกี่ยวกับการป้องกัน พร้อมแนะนำหน่วยบริการด้านสุขภาพ และสนับสนุนชุดอุปกรณ์ป้องกันให้กลุ่มเป้าหมายโดยส่งทางไปรษณีย์ไปทั่วประเทศ

ความตั้งใจของแคร์ทีมที่จะแก้ปัญหาของเพื่อนสมาชิก ยังนำไปสู่การเปิด DIC ย่อย ศูนย์สุขภาพใจชุมชน ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่ห่างไกลจากโรงพยาบาลจะนะ 70 กิโลเมตร พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตชายทะเล ผู้คนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมง ปัญหาที่พบคือแม้เพื่อนสมาชิกต้องการจะบำบัดแต่ก็รับยาเมทาโดนไม่ต่อเนื่อง  เพราะอยู่ในพื้นที่ห่างไกล และเวลาให้บริการของโรงพยาบาลไม่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตชาวประมง

ดังนั้นแคร์ทีมจึงทำงานประสานกับภาคีที่เกี่ยวข้องตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 ใช้เวลา 1 ไตรมาสในการผลักดันจนสามารถจัดตั้งศูนย์สุขภาพใจ เพื่อให้บริการเมทาโดนในชุมชนเป็นผลสำเร็จจนเปิดบริการเมื่อเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน ภายใต้หลักเกณฑ์การทำงานร่วมกันทั้งหน่วยงานภาคประชาสังคม ภาคสาธารณสุข ภาคปกครอง ผู้บังคับใช้กฎหมาย และชุมชน มีกิจกรรมในการดำเนินงานภายใต้หลักการทำงาน RRTTPR

ในขั้นตอนการทำงานนั้น แคร์ทีม และชุมชน รวมถึงอสม.เป็นผู้เชิญชวนเพื่อนสมาชิกเข้าสู่บริการ โดยในการรับยาเมทาโดนครั้งแรก โรงพยาบาลจะนะเป็นผู้รับผิดชอบ มีการสนับสนุนรถเดินทางจากผู้นำชุมชน บริการรับ-ส่งคนไข้ ต่อมาขั้นตอนการรักษาโรงพยาบาลจะนะส่งต่อคนไข้ เพื่อดูแลรับยาในระดับพื้นที่ต่อไปที่ศูนย์สุขภาพใจชุมชน โดยแคร์ทีม และชุมชน มีส่วนร่วมกำกับดูแลคนไข้ มีการร่วมจ่ายเมทาโดนให้เพื่อนสมาชิกทุกวัน

ส่วนเรื่องการป้องกันนั้นเจ้าหน้าที่เชิงรุกแคร์ทีมจัดบริการอุปกรณ์สะอาดและถุงยางอนามัยให้กับเพื่อนสมาชิกที่จุดรับบริการ สำหรับการติดตามให้คงอยู่ในระบบการบำบัด เจ้าหน้าที่เชิงรุกแคร์ทีมในพื้นที่จะทำงานควบคู่กันระหว่างโรงพยาบาลจะนะ อสม.และแกนนำชุมชน

ด้านผลการดำเนินงานของแคร์ทีมสงขลา ระหว่างเมษายน 2564 – กุมภาพันธ์ 2566 นั้น ได้สนับสนุนชุดอุปกรณ์ป้องกัน (อุปกรณ์สะอาด และถุงยางอนามัย)เป็นจำนวน 129,158 ชุด จากเป้าหมาย 133,640 ชุด (96.65%) สามารถเข้าถึง PWID ได้ 2,854 ราย จากเป้าหมาย 2,969 ราย (96.1%) ด้านการทดสอบ HIV ทำได้ 643 ราย จากเป้าหมาย 1,062 ราย (60.5%)  การทดสอบไวรัสตับอักเสบซี ทำได้ 476 ราย จากเป้าหมาย 518 ราย (91.9%)  การติดตามให้คงอยู่ในระบบการบำบัด ทำได้ 2,854 ราย จากเป้าหมาย 2,969 ราย (96.1%)

แคร์ทีมยังวางแผนว่าจะได้มีการติดตามงานนำโดยชุมชน (Community Led Monitoring – CLM.) ทำการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับผู้รับเมทาโดนในชุมชนตำบลนาทับ โดยศึกษาพฤติกรรมการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีของเพื่อนสมาชิกที่เข้ารับบริการเมทาโดนในศูนย์สุขภาพใจชุมชน ตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา หลังจากได้รับบริการแล้วส่งผลต่อคุณภาพชีวิตอย่างไร เพื่อให้การดำเนินงานมีคุณภาพที่ดียิ่งขึ้นต่อไป

บทความที่เกี่ยวข้อง

เกี่ยวกับผู้เขียน ดูกระทู้ทั้งหมด

สุภาภรณ์ อัษฎมงคล