TDN “เครือข่ายผู้ใช้ยาฯ” เจ้าของปัญหากับหลักการทำงานแบบเพื่อนช่วยเพื่อน

เครือข่ายผู้ใช้ยาประเทศไทย (Thailand Drug Users’ Network – TDN) เป็นการรวมตัวกันของผู้ใช้และอดีตผู้ใช้ยาเสพติด ดำเนินงานมาเป็นเวลา 20 กว่าปีแล้ว โดยแรงผลักดันในการทำงานลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด(Harm Reduction) ของเครือข่ายนั้นมีที่มาจากหลายชีวิตของเพื่อนที่ร่วงหล่นไปในช่วงการแพร่ระบาดสูงสุดของเอชไอวี เพราะเข้าไม่ถึงการรักษา

แม้ว่าการดำเนินงานจะมิได้เป็นไปในรูปแบบขององค์กรที่จดทะเบียนอย่างเป็นทางการ แต่ TDN สามารถเข้าถึงเพื่อนผู้ใช้ยาได้อย่างต่อเนื่องและรับทุนสนับสนุนการทำงานจากกองทุนโลก ผ่านมูลนิธิรักษ์ไทย ซึ่งเป็นผู้รับทุนหลัก มาตั้งแต่แรกเริ่มในปี 2547 จนถึงปัจจุบันในโครงการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด STAR 2564-2566 (STAR 3)

ศักดิ์ดา เผือกชาย ผู้อำนวยการเครือข่ายผู้ใช้ยาประเทศไทย  หรือ TDN  ชายผิวคล้ำร่างสันทัด ในวัย 48 ปี ผ่านประสบการณ์เกี่ยวกับยาเสพติดมากว่าครึ่งชีวิต จากผู้เสพในช่วงวัยรุ่น จนมาถึงวันที่เลิกได้ เล่าถึงการทำงานของTDNว่า ก่อตั้งเมื่อ 10 ธันวาคม 2545 เป็นการรวมตัวกันของผู้ใช้และอดีตผู้ใช้ยาเสพติด เพื่อเรียกร้องให้ลดการตีตรา (stigma) และเพื่อสิทธิการรักษาสุขภาพของผู้ใช้ยา โดยยึดหลักการ “เพื่อนช่วยเพื่อน” ในการทำงาน

“ตอนแรกในส่วนของเราก็รู้ว่าโรคที่เพื่อนเราโดนคือมาจากการแชร์เข็ม ใช้เข็มร่วมกัน ถ้าจะลดการเกิดโรคเอชไอวี หรือไวรัสตับอักเสบซี ก็ต้องมีเข็มสำหรับผู้ใช้ยาโดยวิธีฉีด ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้ที่ยังไม่พร้อมที่จะเลิก เมื่อก่อนฮาร์มรีดักชั่น มันไม่ได้เหมือนสมัยนี้นะ เดี๋ยวนี้นักวิชาการเยอะ ความหมายของฮาร์มเยอะแยะมากมาย แต่ความจริงแล้วผมว่าความหมายของฮาร์มรีดักชั่นคือทำอย่างไรให้เกิดอันตรายน้อยที่สุด อันนี้เป็นนิยามของเราตั้งแต่สมัยแรกเริ่มถึงปัจจุบัน” ศักดิ์ดา สรุปความหมายฮาร์มรีดักชั่นจากประสบการณ์ในการทำงาน

TDN มีรูปแบบการทำงานเป็นเครือข่าย ซึ่งจัดโครงสร้างองค์กรโดยมีคณะกรรมการเครือข่ายผู้ใช้ยาประเทศไทย ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการบริหาร ผ่านศูนย์ประสานงานกลาง   ผู้ประสานงานภาคใต้ ดูแลการทำงานในจังหวัดตรัง สตูล นครศรีธรรมราช พัทลุง   ผู้ประสานงานภาคเหนือ ดูแลการทำงานในจังหวัดเชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน โดยในแต่ละจังหวัดมีคณะกรรมการรับผิดชอบการทำงาน มีกำลังเจ้าหน้าที่ทุกแผนกและอาสาสมัครภาคสนามที่เป็นผู้ใช้ยาหรืออดีตผู้ใช้ยารวมทั้งหมด 120 กว่าคน

สมาชิกเครือข่าย TDN มีประมาณ 5 พันคน แบ่งเป็นส่วนแรกคือผู้มารับบริการที่มี UIC ซึ่งเป็นหมายเลขและตัวอักษรย่อชื่อ-สกุล ใช้แทนชื่อจริง ส่วนที่สองคือผู้ที่มีการติดต่อประสานงานเพื่อผลักดันนโยบายสิทธิสุขภาพของผู้ใช้ยาเสพติด

สำหรับโครงการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด STAR 3  TDN ทำงานกับกลุ่มประชากรหลักที่เป็นผู้ใช้สารเสพติดด้วยวิธีฉีด (PWID) ภายใต้หลักการทำงาน RRTTPR (Reach, Recruit, Test, Treat, Prevention, Retain) โดยการให้คำปรึกษา ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคเอชไอวี โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี วัณโรค และการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด อีกทั้งยังมีการแนะนำการตรวจรักษาเอชไอวี  การตรวจคัดกรอง รักษาไวรัสตับอักเสบซี ไวรัสตับอักเสบบีที่คลินิก C-Free

พื้นที่ดำเนินการของTDN ใน 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตรัง สตูล นครศรีธรรมราช และ พัทลุง มีศูนย์บริการDrop in Center (DIC) 7 แห่ง (ที่เชียงใหม่มีที่ อ.เมือง และ อ.ฝาง) ทำหน้าที่ในการให้ความรู้ การแจกเข็มอุปกรณ์สะอาด ถุงยางอนามัย อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ และการส่งต่อบริการ ส่งต่อการตรวจเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี

ผลการดำเนินงานของ TDN ในโครงการ STAR 3 ในช่วงปีที่ 3 ระยะที่ 1 (ตุลาคม 2565 – กันยายน 2566) สามารถเข้าถึงเพื่อน PWID จำนวน 6,547 คน จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 8,212 คน จำนวนเข็มและอุปกรณ์สะอาดที่แจก 396,525 ชิ้น จากเป้าหมาย 369,540 ชิ้น จำนวนPWIDที่ได้รับบริการตรวจเชื้อเอชไอวี 2,529 คน จากเป้าหมาย 3,450คน  จำนวน PWID เริ่มรับสารทดแทนสำหรับการบำบัดรักษาผู้ที่เสพฝิ่นและสารอนุพันธ์ฝิ่น (เมทาโดน) 622 คน จากเป้าหมาย 480 คน

จากพื้นที่การทำงานของ TDN ที่ครอบคลุมทั้งจังหวัดในภาคเหนือและภาคใต้ ศักดิ์ดาตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจุบันลักษณะการใช้ยาเสพติดมีความเปลี่ยนแปลงไป  โดยในภาคใต้ใช้เฮโรอีนน้อยลง แต่มีการฉีดยาบ้ากับไอซ์เป็นส่วนมาก  ส่วนภาคเหนือพบการใช้ยาเสพติดที่มีความหลากหลาย มีกลุ่มที่ใช้ยาผสมผสาน ทั้งยังพบการใช้ยาผิดประเภท เช่น การฉีดเมทาโดน หรือในพื้นที่ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ พบการฉีดฝิ่นประมาณ 90 %  ซึ่งเราต้องให้ความรู้ให้เขาตระหนักถึงการลดอันตราย และดูแลด้วยชุดอุปกรณ์สะอาดไม่ให้แพร่เชื้อ

ศักดิ์ดายอมรับว่าในการทำงานลดอันตรายจากยาเสพติดนั้นมีอุปสรรคมาโดยตลอด เริ่มตั้งแต่การเข้าพื้นที่ใหม่ การเข้าไปทำกิจกรรม ทำความรู้จักกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้นำชุมชน ว่าเราเป็นใครมาทำอะไรกับใคร แล้วชุมชนจะได้อะไรซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจ สำหรับตนเองนั้นจะคุยได้ง่าย เพราะเคยใช้แต่เลิกแล้ว  แต่สำหรับคนที่ยังไม่ได้เลิกจะมีความยากลำบากในการทำงานมากขึ้น เพราะถูกตีตราว่าตัวเองยังเลิกไม่ได้ แล้วจะไปช่วยคนอื่นได้หรือ แต่ถ้าคนที่เข้าใจก็จะเห็นว่า ผู้ใช้ยาไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อนถ้าดูแลตัวเองได้ มีอาชีพดูแลครอบครัวได้ ก็ไม่ได้เป็นปัญหากับใครเลย

“งานยาเสพติดนั้น ผมมองว่ามันเป็นของทุกคน ไม่ได้เป็นของใครคนใดคนหนึ่ง ผมมองว่าถ้าสังคมฉลาดน่าจะให้โอกาสกับคนส่วนน้อย เพราะถ้าดูแลส่วนน้อยตรงนี้ได้ควบคุมให้เราสุขภาพดี ไม่ให้เรามีโรคในตัว ไม่ให้เราไปอะไรนู่นนี่นั่นก็ทำให้สังคมส่วนใหญ่ปลอดภัยไปด้วย” ศักดิ์ดา กล่าว

กว่าสองทศวรรษของการทำงานที่ผ่านมา ศักดิ์ดารู้สึกอิ่มเอมใจที่ได้มีส่วนในการส่งเพื่อนเข้ารับการตรวจหาเชื้อไม่ว่าจะเป็นเอชไอวี หรือไวรัสตับอักเสบ ได้ทราบผลและส่งเข้ารับการรักษา  ที่สำคัญสำหรับคนที่ยังไม่เลิกใช้ยาก็ได้รับอุปกรณ์สะอาด และที่ภาคภูมิใจที่สุดคือให้เพื่อนได้คงอยู่ในสถานะเดิม ไม่หลุดไปจากโครงการ  ถ้ารับยาต้านอยู่ก็มารับยาสม่ำเสมอ ตนไม่ได้คาดหวังอะไรมาก เพราะจุดเริ่มต้นของตนเองก็มาจากตรงนี้ จากความเป็นเจ้าของปัญหาเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ในฐานะผู้อำนวยการเครือข่ายผู้ใช้ยาประเทศไทย ศักดิ์ดามองว่าในระยะยาวการทำงานกับเพื่อนผู้ใช้ยาเสพติดยังคงต้องอาศัยกฎหมายที่เอื้อให้ผู้ใช้ยาสามารถยืนอยู่ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี และที่สำคัญที่สุดคือจะทำอย่างไรให้เพื่อนสามารถเดินเข้าไปรับบริการสุขภาพในหน่วยงานของรัฐใกล้บ้านได้อย่างสง่าผ่าเผย โดยไม่ถูกรังเกียจ ไม่ถูกตีตรา ไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งนี่คือเป้าหมายสูงสุดของตนและองค์กร

บทความที่เกี่ยวข้อง

เกี่ยวกับผู้เขียน ดูกระทู้ทั้งหมด

สุภาภรณ์ อัษฎมงคล